ไบโอไทยดักทางคกก.วัตถุอันตรายชุดใหม่ไม่มีสิทธิ์แก้มติแบน 3 สารเคมีอันตาราย

ไบโอไทยดักทางคกก.วัตถุอันตรายชุดใหม่ไม่มีสิทธิ์แก้มติแบน 3 สารเคมีอันตาราย

ไบโอไทยปลื้มแบน 3 สารพิษ ปกป้องสุขภาพประชาชน ลั่นคกก.ชุดใหม่ไม่มีสิทธิ์กลับมติแบน จี้รัฐ-กระทรวงเกษตรฯแบ่งเบาภาระเกษตรกรแบกรับต้นทุนเพิ่มจากการปรับเปลี่ยน ย้ำไม่หนุนสารทดแทน ควรใช้ 3 วิธีการทดแทน

      นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ตนและเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกพอใจมากกับมติแบนสารเคมีอันตรายและเห็นได้ชัดว่ากรรมการวัตถุอันตรายที่มาจากกระทรวงต่างๆมีการลงมติขาดลอย แม้แต่ในบางสาร เช่น ไกลโฟเซตที่เป็นข้อโต้แย้ง จึงถือว่าเป็นการลงมติเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและเกษตรกรอย่างแท้จริง ต้องขอบคุณ 3 เรื่อง คือ 1.ขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมกันเคลื่อนไหวกดดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปี 2.ขอบคุณรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ ที่พร้อมเพียงกันโหวต ต่อให้ไม่เปิดเผยก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมาจากหน่วยงานของรัฐและกระทรวงที่ได้สัญญากับประชาชนว่าจะแบนก็ทำตามคำสัญญา และ3.ขอบคุณพรรคการเมืองในสภา ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่ได้ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ เพราะทั้งสภาผู้แทนราษฎรมีมติร่วมกันตั้งกรรมาธิการขึ้นมาจึงสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองรู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของประชาชนจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้


       “แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติแบน 3 สารพิษในครั้งนี้จะเป็นคณะกรรมการฯตามกฎหมายฉบับเดิม แต่เมื่อมีคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ตามกฎหมายฉบับใหม่นั้น ก็จะมีหน้าที่ดูแลเรื่องวิธีการจัดการให้คำแนะนำ หาสารทางเลือกทดแทน เป็นต้น แต่หน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ก็ไม่มีผลกับมติการแบนหรือการโหวตในครั้งนี้แล้ว ไม่สามารถไปกลับมติการแบนของคณะกรรมการชุดเดิมได้”นายวิฑูรย์กล่าว


         นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดแล้วต้องตระหนักร่วมกันว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ก็ต้องตระหนักว่าเกษตรกรคือผู้ที่จะต้องรับภาระในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเกษตรกรที่แสดงความจำนงว่าจะใช้สาร 3 ชนิดนี้ จึงอยากเรียกร้องว่าหากมีต้นทุนจากการปรับเปลี่ยนนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนแบ่งเบาภาระ เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องรับภาระจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ สำหรับเรื่องสารทดแทนเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องดำเนินการ แต่ความเห็นคือไม่ควรมุ่งเป้าไปที่การใช้สารทดแทน แต่ควรหาวิธีการทดแทน คือ 1.ใช้เครื่องมือกลและเครื่องจักรกลทางการเกษตร 2.เรื่องการปลูกพืชคลุมดิน และ3.การจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน