‘สุวิทย์’ สั่งรับมือแรงงานเสี่ยง ตกงาน-เปลี่ยนงาน 38 ล้านคน

‘สุวิทย์’ สั่งรับมือแรงงานเสี่ยง ตกงาน-เปลี่ยนงาน 38 ล้านคน

“สุวิทย์”สั่งรับมือตกงาน-เปลี่ยนงาน 38 ล้านคน ลุยพัฒนา-เพิ่มทักษะบัณฑิตและแรงงาน ดึงภาคอุตสาหกรรมร่วมจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเน้นลงมือปฏิบัติจริง เผยดันงบวิจัยประเทศ 5 ปีข้างหน้า 2.8 แสนล้าน 80% มาจากเอกชน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายด้านการผลิตและพัฒนาครู” ให้กับคณะผู้บริหารงานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในการประชุมเพื่อมอบนโยบายเกี่ยวกับการผลิตครูและวิจัยทางครุศาสตร์ ว่า ขณะนี้ ภารกิจสำคัญของ อว.มี 3 เรื่องสำคัญ คือ การสร้างและพัฒนาคน การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ และการสร้างและพัฒนานวัตกรรม โดยเรื่องการสร้างคนไม่ได้เน้นการผลิตบัณฑิตอย่างเดียวแล้ว ซึ่งการผลิตบัณฑิตแต่ละปีประมาณ 2.5 ล้านคน แต่ต้องขยายไปถึงคนที่อยู่ในการทำงาน จำเป็นต้องพัฒนาทักษะ( Re-skill) และ เพิ่มทักษะ( Up-skill ) เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แรงงานที่มีอยู่อาจตกงาน และต้องมีการเปลี่ยนงานมากกว่า 38 ล้านคน

157172434558

นอกจากนี้ อว.ยังทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อการศึกษาและเรียนรู้ของคนสูงวัยจำนวน 11 ล้านคน บทบาทนี้ไม่เพียงแต่การศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญยังมีอีกประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงใยเรื่องการเปิดหลักสูตรจำนวนมาก ซึ่งหลักสูตรจำนวนหนึ่งเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์อาชีพ เช่น บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงแต่การเรียนการสอนในระบบ มีปริญญาเท่านั้น แต่ยังมีหลักสูตรไม่มีปริญญา(Non-degree) ด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตบัณฑิตตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้ทันที ดังนั้น มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องเข้ามาร่วมมือกับภาคเอกชน ป้อนกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชนต้องเข้ามีส่วนร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้นในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non -degree) ในลักษณะการฝึกอบรมในงานที่ทำ (On the job training) ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ลักษณะการเรียนการสอนจะไม่มุ่งเน้นที่วุฒิการศึกษา เพราะเป็นการศึกษาที่ใช้เวลานานเกินไปไม่ทันกับความต้องการของภาคเอกชน บทบาทมหาวิทยาลัยต้องสร้างนวัตกรรม และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่จากคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ โดยทั้งหมดนี้กระทรวง อว. มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต จึงเรียกว่าเป็น กระทรวงเพื่ออนาคต

ปี 63 จัดสรรงบบีซีจี 2.5 พันล้าน


รมว.อว.กล่าวต่อว่า อว.ยังมีการสร้างองค์ความรู้ การลงทุนวิจัยและพัฒนา 5 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วน 0.48% ต่อจีดีพี วันนี้ได้ขยับขึ้นเป็น 1.1% ต่อจีดีพี และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง โดยภายใน 5 ปี ควรขยับจาก 1.1% เป็น 1.5% ต่อจีดีพีหรือ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งงบวิจัย 80% จะมาจากเอกชน เป็นตัวคูณสมทบเพิ่มไปอีก 4-5 เท่า ของงบวิจัยภาครัฐ 2.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามมีคำถามว่างานวิจัยจะไปสู่จุดไหนนั้น จากเดิมเป็นเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างทำ แต่ อว. มุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ โจทย์เอกชน โจทย์จากชุมชน โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1.การพัฒนาคน (Brain power และ Man power) 2.การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3.การลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาพื้นที่ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก และ 4.การวิจัยตอบโจทย์ท้าทายสังคม เช่น ปัญหาขยะ ภาวะโลกร้อน ซึ่งได้แบ่งเป็น 16 โปรแกรม

157172460934

“จุดสำคัญคือ งานวิจัยต้องมีเป้าหมาย นายกรัฐมนตรีจึงเน้นเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งรวมด้านเกษตร อาหาร การแพทย์ สุขภาพ พลังงาน วัสดุชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สร้างมูลค่าได้ 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของจีดีพี และจะขยับเป็น 4.4 ล้านล้านบาท ใน 3-4 ปีข้างหน้า ประชาชน 18 ล้านคน จะได้ประโยชน์ เช่น จากการยกระดับเกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart farming) การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้น” นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ ระบุอีกว่า สิ่งที่จะเรียนเพิ่มเติมคือ อว. ขับเคลื่อนงานรองรับโดยการยกเครื่องมหาวิทยาลัย ภารกิจที่ผ่านมา คือ การเดินหน้าปลดล็อกข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 Tracks หรือ 3 ลู่วิ่ง มหาวิทยาลัยจะตอบตัวเองว่าจะวิ่งลู่ไหน

 ลู่วิ่งที่ 1 มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้แข่งนานาชาติ/ระดับโลก

ลู่วิ่งที่ 2 มหาวิทยาลัยซึ่งเน้นเทคโนโลยีและภาคอุตสาหกรรม

ลู่วิ่งที่ 3 ซึ่งต่อไปจะมีความสำคัญมาก คือ มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

อนึ่ง โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Cir cular-Green Economy) ถือเป็นโครงการสำคัญของกระทรวง อว. ที่จะผลักดันและขับเคลื่อนให้เป็นโครงการระดับประเทศเทียบเคียงกับอีอีซี หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยอยู่ระหว่างนำเสนอแอคชั่นแพลนกับนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ได้มีการนำเสนอสมุดปกขาวเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี ไปเมื่อปีที่ผ่านมา อีกทั้งได้จัดสรรงบประมาณปี 2563 ในภาพรวมของโครงการ บีซีจี ไว้ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท และยังมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ อีกด้วย เช่น ไบโอฟาร์มาซูติคอล จีโนมิกส์ อาหารและสมาร์ทฟาร์มมิ่ง

หัวใจของความเป็นครู

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. ยังได้ร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายด้านการผลิตและพัฒนาครู” ให้กับคณะผู้บริหารงานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในการประชุมเพื่อมอบนโยบายเกี่ยวกับการผลิตครูและวิจัยทางครุศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือ การยกเครื่องประเทศเพื่อปรับสู่ศตวรรษที่ 21 การปฏิรูปการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศและเป็นหัวใจสำคัญของการเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 การสร้างคนให้เป็น smart citizen คือการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องอาศัย head (สมอง) hand (ทักษะ) health (สุขภาพจิต สุขภาพกาย) และ heart (ทัศนคติ จิตใจที่ดี) ครูต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการสอนใหม่ สิ่งที่สอนต้องจับต้องได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ครูในศตวรรษที่ 21 จะต้องเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจไม่ใช่เพียงความรู้และทักษะ หัวใจของความเป็นครูคือการสร้างให้เด็กเกิดอุปนิสัยที่ดี ถูกต้อง เด็กจะสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต การสร้าง smart citizen จำเป็นต้องมี smart teacher ถ้าเราไม่สามารถสร้างเบ้าหลอมที่ดีได้ก็จะไม่สามารถสร้างคนที่ดี

157172491134

“เราต้องทำให้อุปสงค์และอุปทานในการผลิตครูมีความสมดุลกัน ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้การปรับให้สมดุล รวมถึงคุณภาพของครูที่ผลิตออกมาด้วย เราไม่ได้มองว่าครูคือปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่ครูคือเบ้าหลอมที่สำคัญให้กับสังคมประเทศชาติ บทบาทของความเป็นครูไม่ใช่เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป แต่จะเป็นผู้ที่ทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ เรากำลังสร้างอนาคตของประเทศผ่านนิสิตนักศึกษาครู ข้อต่อหนึ่งที่จะเป็นคานงัดของการเปลี่ยนแปลงคือ ข้อต่อที่เป็นเบ้าหลอม ถ้าเบ้าหลอมของครูดี เราจะได้ครูที่ดี เมื่อครูดีนักเรียนจะดี เมื่อนักเรียนดีประเทศก็จะดี ในที่สุดแล้วก็คือคนที่มีคุณภาพ ประเทศที่มีคุณภาพ”