พร้อมส่งจีน ลำไยรมควัน 20 ตัน จากโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ระดับสากลของ วว.

พร้อมส่งจีน ลำไยรมควัน 20 ตัน จากโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ระดับสากลของ วว.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ อ้างอิงผลตรวจกรมวิชาการเกษตรยืนยัน “โรงรมลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์” จ.ลำพูน ผ่านการตรวจรับรองประเมินตามระบบมาตรฐานสากล ระบุผลผลิตเกรดพรีเมียม 20 ตันแรก ส่งออกไปจีน พ.ย.นี้

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ระบบควบคุมสภาวะต้นแบบ ซึ่งเป็นโรงรมต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่นำเทคโนโลยีการรมควันลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของ วว. เข้ามาใช้ในระบบ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการยืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก ต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 

ขณะนี้ได้ผ่านการตรวจรับรองประเมินโรงคัดบรรจุตามระบบมาตรฐานสากล Good Manufacturing Practices (GMP) และผ่านการตรวจประเมินโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตามหลักปฏิบัติที่ดี The Good Fumigation ractices of Sulfur dioxide (GFP) ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ซึ่งจะทำให้โรงรมฯ สามารถให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ได้เต็มประสิทธิภาพ สามารถส่งออกต่างประเทศได้ในระดับสากล

วว. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่จังหวัดลำพูน กับหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ จ.ลำพูน และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำพูน (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน Sharing Economy ศูนย์ถ่ายทอดฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงรมฯ ส่งผลให้เดือน พ.ย.นี้จะมีการส่งออกลำไยสดเกรดพรีเมียมไปยังประเทศจีน 1 ตู้คอนเทนเนอร์หรือ 20 ตันแรก โดยเป็นลำไยสดที่มีการควบคุมคุณภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีลำพูนฯ ที่ได้ส่งเสริมการปลูกกว่า 1,000 ไร่ แล้วนำผลผลิตลำไยสดนั้นผ่านกระบวนการของโรงรมฯ แห่งนี้

"นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของ วว. ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปเสริมแกร่งการส่งออกผลผลิตการเกษตรของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม จึงเชิญชวนกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้ามาใช้บริการโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น วว.พร้อมให้บริการแก่ทุกท่าน” นายสายันต์ กล่าว

ทั้งนี้ โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ รองรับผลลำไยสดได้ 100 ตันต่อวัน (9,000 ตันต่อปี) มีประสิทธิภาพควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยได้ ช่วยลดการใช้กำมะถัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ช่วยยืดอายุการเก็บผลลำไย รวมทั้งผักและผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ได้นานขึ้น 30-45 วัน ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถการส่งออกที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ประกอบด้วยเทคโนโลยีการรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3 ระบบ ดังนี้ 


        1.ระบบรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่สามารถควบคุมปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ฯ ที่ตกค้างในเนื้อลำไยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

        2.ระบบรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ป้องกันการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ฯ จากกระบวนการและในพื้นที่ทำงานในโรงงาน 

        และ 3.ระบบรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ที่ปล่อยออกนอกโรงงาน เป็นระบบมีการหมุนเวียนน้ำกลับไปใช้ซ้ำไม่มีการระบายน้ำทิ้ง และได้ผลพลอยได้เป็นยิปซั่ม สามารถใช้เป็นวัสดุปรับปรุงสภาพดินได้