'อิปซอสส์' ชี้เจาะสูงวัย สร้างเกมเปลี่ยนตลาด

'อิปซอสส์' ชี้เจาะสูงวัย สร้างเกมเปลี่ยนตลาด

อิปซอสส์ ศูนย์วิจัยเผยการตลาดปี 2562 ธุรกิจต้องชิงเปลี่ยนเกม แนะจับเทรนด์ธุรกิจรุกตลาด เชื่อมแบรนด์สู่ผู้บริโภค นำร่องเปิดเกมสร้างตลาดหยิบกระแสผู้สูงวัยปรากฎการณ์เปลี่ยนขั้วอำนาจตลาด

นางสาว อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการบริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Ipsos (Thailand) Co.,Ltd.) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดผู้บริโภคผู้ให้บริการงานวิจัยรูปแบบ Customized ResearchSolution โซลูชั่นครบวงจร เปิดเผยถึงผลวิจัยในปี 2562 ซึ่งถือเป็นปีเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเทคโนโลยีมีบทบาทเร่งให้ทุกคนและภาคธุรกิจปรับตัวให้ทันรับกระแสโลก ด้วยการเป็นผู้เปลี่ยนเกม (Game Changers)

ขณะที่บริษัทมุ่งเน้นผลวิจัยที่แม่นยำ เป็นผู้คาดการณ์กระแสโลก หรือปรากฎการณ์ใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาด โดยเฉพาะแนวโน้ม หรือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2593 คือขนาดประชากรผู้สูงอายุที่หมายถึงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวน 2.1 พันล้านคน หรือสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรโลก ซึ่งที่ผ่านมานักการตลาดถึง 79%มองข้ามประชากรกลุ่มผู้สูงวัย เพราะคิดว่าไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบการเรียนรู้ ไม่ชอบสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบการกำหนดความสนใจไลฟ์สไตล์จากอายุมากกว่าความสนใจ และความต้องการที่แท้จริง

 

ขณะที่อิปซอสส์ ค้นพบว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันแม้จะอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่มองว่าตัวเองแก่ หรือรู้สึกอ่อนกว่าอายุจริงถึง 9 ปี ซึ่งในปัจจุบันผู้สูงอายุกว่า 75% ปรับทัศนคติใหม่หันมาสนใจเทคโนโลยีและชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เข้าถึงความรู้ต่างๆ เช่น การสั่งสินค้าออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้าถึงข้อมูลด้านการแพทย์ และสุขภาพ

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า11ล้านคน ซึ่งสัดส่วนจำนวนมากที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจีนและอังกฤษ1ใน3ของครัวเรือนทั้งหมดคือคนสูงวัยที่อาศัยอยู่ด้วยตัวคนเดียว ขณะที่เด็กและคนวัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลง อีกทั้งสัดส่วน57%ของประชากรโลกที่มองว่าการดูแลผู้สูงวัยเป็นหน้าที่ของญาติและลูกหลาน จึงส่งผลต่อปัญหาเรื่องรายได้และมุมมองที่ผิดต่อประกันยังทำให้มีเพียง50%ของผู้สูงวัยในไทยมีประกันสุขภาพ ทำให้ไม่ได้เกิดการวางแผนในระยะยาว

นักวิจัยมองว่าผลวิจัยที่เกิดขึ้นควรนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เชื่อมต่อกับความต้องการของผู้สูงวัย ที่ชอบการท่องเที่ยว และมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเพิ่มอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง ตลอดจนเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่แบรนด์จะต้องให้ความสนใจเข้าไปสื่อสาร เข้าถึงการช่วยเติมเต็มความต้องการด้านการดูแลสุขภาพ เมื่อต้องอยู่โดดเดี่ยวคนเดียว และเชื่อมโยงกับการสร้างงานเหมาะสม รวมไปถึงการปรับโครงสร้างสวัสดิการทางสังคมให้ผู้สูงวัย โดยกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาส ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค, ศูนย์สุขภาพ, การบริการทางการเงิน และการบริการสาธารณะเพื่อผู้สูงวัย