'เพซ' เสี่ยงเข้าฟื้นฟูกิจการ นักวิเคราะห์ห่วงส่วนทุนติดลบ หากยังขาดทุนต่อเนื่อง

'เพซ' เสี่ยงเข้าฟื้นฟูกิจการ นักวิเคราะห์ห่วงส่วนทุนติดลบ หากยังขาดทุนต่อเนื่อง

"เพซ" เตรียมเจรจาผู้ถือหุ้นกู้ ขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ หลังไทยพาณิชย์ส่งหนังสือทวง 2,645 ล้าน ส่งผลให้หนี้อื่นผิดนัดชำระตามอีก 9,227 ล้านบาท ด้านเอสซีบียอมรับหนี้เพซ ดันเอ็นพีแอลปูด ลั่นตั้งสำรองครบ 100% แล้ว

จากกรณี บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE แจ้งถึง กรณีผิดนัดชำระหนี้ต่อธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ลงวันที่ 18 ต.ค. 2562 รวม 2,645.12 ล้านบาท ซึ่งจะถึงกำหนดในวันที่ 4 พ.ย. นี้ การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทเกิดการผิดนัดในมูลหนี้อื่นที่บริษัทและบริษัทย่อยมีต่อธนาคาร และ/หรือ เจ้าหนี้รายอื่นๆ (Cross defalut) ด้วย จำนวนรวม 9,227.02 ล้านบาท

นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทประสบกับความท้าทายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเงื่อนไขของเวลา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายอย่าง ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าในขณะนี้ยังมีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ย กล่าวคือ มูลค่าสินทรัพย์ สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยมีอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยการปรับโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริษัทสามารถกลับมาก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบได้

โดยมั่นใจการปรับโครงสร้างทางการเงินไม่กระทบกับ ธุรกิจ ดีน แอนด์ เดลูก้า แน่นอน นอกจากนี้บริษัทจะนัดประชุมกับผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป เพื่อให้บริษัทมีเวลาในการดำเนินทุกโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อส่งมอบและนำเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวยอมรับว่า กรณี PACE ผิดนัดชำระหนี้กับธนาคาร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารในไตรมาส 3 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.01% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.77% สอดคล้องกับหนี้เสียในส่วนธุรกิจรายใหญ่ของธนาคารที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.18 % จาก 2.08 %

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ตั้งสำรองในกรณีนี้ไปแล้ว 100% จึงไม่มีผลกระทบต่อกำไรของตัวธนาคาร และหลังจากนี้ จะมีการหารือกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

“เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้ มีผลทำให้เอ็นพีแอลของแบงก์ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ แต่ไม่กระทบต่อกำไรของแบงก์แน่นอน ไม่ว่าไตรมาส 3 หรือ อนาคต เพราะเราสำรองเคสนี้ไปหมดแล้ว"

นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงของหุ้นเพซ ซึ่งมีผลขาดทุนมาต่อเนื่อง กดดันให้มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 ลดลงไปเหลือ 0.02 บาท จากสิ้นปีก่อนที่ 0.12 บาท และยังกดดันให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงมาเหลือเพียง 255 ล้านบาท

“หากบริษัทยังคงขาดทุนต่อเนื่องก็จะยิ่งบั่นทอนส่วนของผู้ถือหุ้นลงไปเรื่อยๆ และหากส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ก็จะเป็นจุดที่หุ้นมีความเสี่ยงว่าจะต้องเข้าไปฟื้นฟูกิจการ และจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มหุ้นที่มีความเสี่ยงจะถูกเพิกถอนได้ โดยปกติแล้วตลาดหลักทรัพย์ก็จะพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้น และความเห็นจากผู้ตรวจสอบบัญชีมาประกอบกัน โดยรวมแล้วนักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้นเพซ” นายสมบัติ กล่าว

อีกด้านหนึ่ง ความเสี่ยงต่อหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเพซ จากงบการเงินไตรมาส 3/62 ที่ประกาศออกมาล่าสุด ก็มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับจำนวนหนี้จากเพซ

“จริงๆ แล้วหนี้ราว 9,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของธนาคารในระดับแสนล้านบาท ถือว่าค่อนข้างน้อยมาก แต่ความกังวลที่เกิดขึ้นคือ นักลงทุนอาจจะต้องระมัดระวังต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมากขึ้น ฉะนั้นแล้วจึงคงแนะนำการลงทุนในหุ้น SCB เพียงแค่ ถือ” นายสมบัติ กล่าว

สำหรับ ราคาหุ้น SCB วานนี้(21ต.ค.) ปิดตลาดที่ 113 บาท ลดลง 3.50 บาท คิดเป็น 3% มูลค่าการซื้อขายรวม 1,762 ล้านบาท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-‘เพซ’ผิดนัดชำระหนี้รวม1.18หมื่นลบ. ผู้บริหารหวังเจรจาปรับโครงสร้างรักษาธุรกิจ

-'เพซ'เพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิม พ่วงวอแรนท์ฟรี หวังนำเงินกว่า 3 พันลบ.ชำระหนี้-พัฒนาโครงการอสังหาฯ

-เพซ ขายหุ้นบริษัทร่วมทุน "แอนด์เดลูก้า คาเฟ่ เจแปน" มูลค่า 310 ลบ.