ดีอีเอสดันร่างหลักการ 'เอไอ' หวังพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม

ดีอีเอสดันร่างหลักการ 'เอไอ' หวังพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม

ดีอีเอส จับมือมหิดล-ไมโครซอฟท์ ร่วมวางรากฐานไทยในยุคเอไอ หวังมุ่งสรรสร้างสังคมไทยและเทคโนโลยีอัจฉริยะ เสริมศักยภาพให้กัน ภายใต้หลักจริยธรรม เป็นก้าวแรกในการสร้างความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัยของระบบเอไอต่อไป

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยล่าสุดดีอีเอสมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ร่างเอกสารหลักการ และแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ “Digital Thailand – AI Ethics Guideline” เพื่อเป็นแนวทางสำหรับทั้งผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการผู้ปัญญาประดิษฐ์ และเป็นการชี้แจงให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิ ความเสี่ยงในการใช้งานเทคโนโลยี และมั่นคงปลอดภัยให้กับระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

สำหรับร่างเอกสารหลักการ และแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าว สามารถแยกแนวทางออกได้เป็น 6 ประการ ได้แก่ 1.ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะต้องได้รับการส่งเสริมความการใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างการแข่งขัน และพัฒนานวัตกรรม 2.ความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และ มาตรฐานสากล กำหนดให้มีแนวทางการปฏิบัติในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ให้มีความสอดคล้อง โดยเคารพต่อความเป็นส่วนตัว เกียรติ สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน

3.ความโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ ควรมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งจะต้องมีภาระ ความรับผิดชอบ ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นตามภาระหน้าที่ของตนได้ 4.ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ควรได้รับการออกแบบให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อป้องกันการโจมตีจากภัยคุกคาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง ปลอดภัยของข้อมูลและระบบ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล ตามหลักจริยธรรม 5.ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม ควรมีการออกแบบและพัฒนา โดยคำนึงถึง ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการผูกขาด ลดการแบ่งแยกและเอนเอียง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คน และ 6.ความน่าเชื่อถือ ควรได้รับการสนับสนุนให้มีความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจในการใช้งานต่อ สาธารณะ โดยมีผลลัพธ์อย่างถูกต้องแม่นยำ

"ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) มาเข้าเป็นที่ปรึกษา ในฐานะผู้ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตั้งต้นด้านการปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์กับสังคมมนุษย์ จากประสบการณ์และมุมมองเชิงนโยบายในฐานะบริษัทเทคโนโลยีเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดความร่วมมือกับในอนาคตต่อไป"