ผู้บริหาร ร.ร.เอกชนร้อง ศธ.เปลี่ยนผู้แทนสช.ใน"กศจ." ภายใน 30 วัน

ผู้บริหาร ร.ร.เอกชนร้อง ศธ.เปลี่ยนผู้แทนสช.ใน"กศจ." ภายใน 30 วัน

กศจ. ป่วนการเมืองแทรกตั้ง ส.ส.สอบตก-อบจ.-อดีตข้าราชการสพฐ. เป็นกรรมการ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ยื่นหนังสือ “มรว.ศธ.” ขอเปลี่ยนใน 30 วัน

วันนี้ (21 ต.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดร.บัณฑิต คุรทาคะ อุปนายกคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) ตัวแทนภาคเหนือ พร้อมด้วย นายบุญฤทธิ์ รสพิกุล ตัวแทนภาคใต้ นายสุเทพ บุญฤทธิ์รักษา ตัวแทนภาคอีสาน และ นายสมจิรต ศรีเรือง ตัวแทนภาคกลาง ได้เดินทางยื่นหนังสือถึง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. และ นายประเสริฐ บุญเรือง รักษาราชการปลัด ศธ.

เนื่องจากสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน(ส.ปส.กช.) ได้ประชุมหารือและมีมติขอ ศธ.ให้ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)ในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทุกจังหวัด เนื่องจากรายชื่อผู้แทน สช. ที่ได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562

ต่อมามีการลงนามประกาศแต่งตั้งใหม่ โดยตัดรายชื่อประธานปส.กช.จังหวัด ตัดรายชื่ออดีตผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาเอกชนออกไป แต่งตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บุคคลในองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) อดีตข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือข้าราชการ สพฐ. มาเป็นผู้แทน สช.

ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ผู้แทน สช. 10 จังหวัด เป็นอดีตผู้อำนวยการและครูในสังกัด สพฐ., 6 จังหวัด เป็นผู้อำนวยการและครูในสังกัด สพฐ., 5 จังหวัด เป็น ผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง นักการเมืองท้องถิ่น และสมาชิกพรรคการเมือง และ 8 จังหวัด เป็นผู้ที่ไม่ได้ดำเนินงานหรือเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนเลย ขณะที่สพฐ.จะมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) เป็นผู้แทนใน กศจ.ทุกจังหวัด ซึ่ง ปส.กช.จะให้เวลา 30 วัน ในการทบทวนคำสั่ง หากไม่มีการแก้ไขก็จะรวมพลมาขอให้ทบทวน โดยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ดร.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ศธ.กำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค ซึ่งในอดีตก่อนที่จะมี กศจ.ในกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาจะมีกำหนดไว้เลยว่าต้องเป็นผู้แทนครูโรงเรียนเอกชน 1 คน เป็นผู้แทนผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชน 1 คน ซึ่งทำให้มีผู้แทนจากเอกชนไปเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา เขตละ 2 คน แต่เมื่อยุบเป็น กศจ.ไม่มีผู้แทนจากโรงเรียนเอกชนแม้แต่คนเดียว กลายเป็นผู้แทนจาก สช. ซึ่งดูแลการศึกษาเอกชน ดังนั้นเมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างศธ.ในส่วนภูมิภาค ก็อยากให้มีผู้แทนจากโรงเรียนเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการ ใน กศจ.เหมือนที่เคยเป็นในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเดิม