'ซีพี' ยื่นเซ็นไฮสปีดเทรน 24 ต.ค.นี้

'ซีพี' ยื่นเซ็นไฮสปีดเทรน 24 ต.ค.นี้

“คณิศ” เผยรฟท.-ซีพีเอช ลงนามในสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 24 ต.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯเป็นประธาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)เปิดเผยว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ - ดอนเมือง - อู่ตะเภา) มูลค่าการร่วมลงทุนลงทุน 2.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีกำหนดที่จะลงนามในสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม) ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ เวลา 13.00 น.ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการลงนามในสัญญา

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาได้สรุปการส่งมอบพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการบริหารโครงการพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการคลัง เป็นประธาน 

ทั้งนี้ ข้อสรุปการรื้อย้ายสาธารณูปโภคได้ผ่านการหารือกับกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การประปานครหลวง (กฟน.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) และบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด โดยสาธารณูปโภคที่จะรื้อย้าย ได้แก่ 1.การแก้จุดตัดเสาไฟแรงสูง 230 จุด 2.การย้ายอุโมงค์ระบายน้ำ 1 จุด 3.การย้ายท่อน้ำมัน 4 กิโลเมตร 4.การย้ายเสาโทรเลขของ ร.ฟ.ท. 80 กิโลเมตร

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อสรุปในการส่งมอบพื้นที่ร่วมกันและนำเสนอให้ กพอ.เห็นชอบ โดยแบ่งการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วขึ้น แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ได้แก่ 1.ช่วงสถานีพญาไท–สุวรรณภูมิ รวมระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่ดำเนินการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ในปัจจุบัน ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีหลังจากมีการลงนามในสัญญา 

2.ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร กำหนดให้มีการส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน จากกำหนดเดิมส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี ซึ่งช่วงนี้มีกำหนดจะเปิดบริการได้ภายในปี 2567

3.ช่วงสถานีพญาไท–ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หลังลงนามในสัญญา โดยการเดินรถไฟความเร็วสูงในช่วงที่ 3 จะเปิดดำเนินการเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงทั้งเส้นทางได้ภายในปี 2568 ซึ่งทำให้การดำเนินโครงการนี้ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนด 

ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งมอบพื้นที่เป็นไปตามที่ กพอ.กำหนดได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามเร่งรัดการส่งมอบที่ดินให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน 

ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกับ สกพอ.และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าใช้วงเงินในหลักร้อยล้านบาทซึ่งไม่สูงมากนักหากเทียบกับมูลค่าการลงทุนโครงการที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

-นับถอยหลัง 'ไฮสปีด เทรน'

-ร.ฟ.ท.ถกด่วน 'ไฮสปีด' พรุ่งนี้ ปมใหม่ส่งมอบพื้นที่ 'ซีพี'

-ถกไฮสปีดนัดสุดท้าย ชง 'ซีพี' เซ็นสัญญา ก่อนส่งมอบ

-'ศักดิ์สยาม' จี้เคลียร์ปมส่งมอบพื้นที่ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน

-'ซีพี' แย้มดูฤกษ์ลงนามก่อน 25 ต.ค. รับสิทธิบอกเลิกสัญญา 'ไฮสปีด'

-ไฟเขียวแก้สัญญาไฮสปีด เปิดทาง Subsidy 'ทำไปจ่ายไป' 25 ต.ค. จ่อ