‘เศรษฐพงค์’ ชี้ เปลี่ยนผ่านกิจการดาวเทียมแบบ ‘พีพีพี’ ต้องรอบคอบ

‘เศรษฐพงค์’ ชี้ เปลี่ยนผ่านกิจการดาวเทียมแบบ ‘พีพีพี’ ต้องรอบคอบ

"เศรษฐพงค์" ชี้ เปลี่ยนผ่านกิจการดาวเทียมแบบ "พีพีพี" ต้องรอบคอบ แนะ ศึกษาอำนาจทางกฎหมาย กสทช. - ก.ดีอีเอส

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรงเดอะ เบอร์เคลียร์ ประตูน้ำ มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ(ร่าง)ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม ประกอบด้วย 1.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม 2.ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และ 3.ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ

โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงาน กสทช. โดยตนเองได้รับมอบหมายจาก น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการ ดีอีเอส ให้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การออกประกาศที่เกี่ยวกับกิจการดาวเทียมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรอบคอบ ซึ่งร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานดาวเทียมไปยังระบบใบอนุญาต ซึ่ง กสทช. จะต้องทำหน้าที่ถือสิทธิเข้าใช้วงโคจรหรือไฟลิ่ง เพื่อรักษาตำแหน่งวงโคจร โดยการออกแผนการบริหารสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม เนื่องจากหลังจากสิ้นสุดสัมปทานเปลี่ยนเป็นระบบใบอนุญาตแล้ว เท่ากับว่าเป็นการเปิดเสรีกิจการดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบ

157164259590

“ในเรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจนของอำนาจในด้านดาวเทียม ระหว่างสำนักงาน กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เนื่องจากในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานดาวเทียมไปยังระบบใบอนุญาต จะทำให้ทรัพย์สินทั้งหมดของไทยคม ต้องส่งมอบให้กับกระทรวง ดีอีเอส เพื่อนำไปบริหารจัดการ ในขณะที่ กสทช. จะทำหน้าที่ถือสิทธิเข้าใช้วงโคจรหรือไฟลิ่ง ซึ่งหากมีการวางแนวทางการบริหารจัดการ โดยดำเนินการในลักษณะ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ พีพีพี ตามแผนการใช้สิทธิดาวเทียม หรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ซึ่งหากไม่รอบคอบอาจทำให้การดำเนินการดังกล่าวผิดกฎหมายได้” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีไฟลิ่งเดิมที่ยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิมของกระทรวง ดีอีเอส คือ ดาวเทียมไทยคม 4, 5, 6 รวมถึงดวงที่ 7 และ 8 ที่อยู่ในขั้นอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 11 ไฟลิ่ง ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตุว่าอำนาจดังกล่าวควรจะต้องโอนมายัง กสทช. หรือไม่ อีกประเด็นที่สำคัญในกฎหมายใหม่นี้ คือการเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถใช้วงโคจรของต่างชาติได้ และเนื่องจากวงโคจรของต่างชาติจะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น และมีความสะดวกมากกว่าการใช้วงโคจรดาวเทียมของไทย ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานของต่างชาติมากเกินไป อาจจะเกิดปัญหาตามมาก็คือปัญหา ความมั่นคงด้านกิจการอวกาศ (Space Security) ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างมาก โดยกมธ.ดีอีเอส จะทำหน้าที่ในการติดตามการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับกิจการดาวเทียมอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน