เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรฯ ออกแถลงการณ์ให้แบนสารพิษพรุ่งนี้

เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรฯ ออกแถลงการณ์ให้แบนสารพิษพรุ่งนี้

พร้อมเรียกร้องให้ กก.วัตถุอันตรายลงมติเปิดเผย โปร่งใส พร้อมเหตุผลการลงมติ

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง เรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการวัตถุอันตราย แบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยแถลงการณ์ซึ่งเผยแพร่ในเพจเฟสบุ๊คของเครือข่ายฯ ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมเพื่อพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตราย ในวันที่ 22 ตุลาคม โดยคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นจาก 4 ฝ่าย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ปรับพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สรุปข้อมูลและนำเสนอต่อกรรมการวัตถุอันตรายแล้วนั้น

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาชนจำนวน 686 องค์กร เพื่อสนับสนุนข้อเสนอและมติของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้มีการดำเนินการดังนี้

1.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายแสดงการมีส่วนได้เสียก่อนการลงมติตามกฎหมายวัตถุอันตราย

2.ให้คณะกรรมการพิจารณาปรับพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามข้อเสนอของคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกรและผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหลายหน่วยงานข้างต้น

3.ให้คณะกรรมการลงมติแบบเปิดเผยพร้อมข้อวินิจฉัยส่วนบุคคล และเผยแพร่ต่อประชาชนและสื่อมวลชนทราบ

4.ให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรกว่า 450,00 ราย ชนิด หรือ 6.6% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ ที่แจ้งความจำนงและสอบผ่านเกณฑ์การใช้สารพิษ 3!ชนิด ให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสารพิษร้ายแรง โดยใช้วิธีกล เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชแบบผสมผสาน วิธีชีวภาพอื่นๆ หรือในกรณีจำเป็นก็อาจใช้สารทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

5. ในระยะยาวให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้นทุนสูง แต่เกษตรกรขายได้ในราคาต่ำ ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ

6. ให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตามระดับความเป็นอันตรายเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากผลกระทบภายนอก (pesticide externalities) ที่มีมูลค่าประมาณ 20, 000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องสูญเสียไปกับการรักษาสุขภาพและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยนำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการจัดการวัชพืชและศัตรูพืชที่ปลอดภัยกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ทั้งนี้หากผลการพิจารณาตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างล่าช้า หรือมีการตัดสินใจที่ไม่ยึดหลักการปกป้องสุขภาพของประชาชน เครือข่ายจะยกระดับการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนในทุกภาคส่วน โดยใช้เครื่องมือตามกฎหมาย การรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการ การไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนการใช้สารพิษร้ายแรง ตลอดจนการเคลื่อนไหวอื่นๆที่เหมาะสม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายข้างต้น เครือข่ายฯ ระบุในแถลงการณ์

ภาพ ความเคลื่อนไหวเรียกร้องแบนสารตามจังหวัดต่างๆ/ เครือข่ายฯ