‘วังวนกัญชา’ ชะตากรรมแรงงานเวียดนามในอังกฤษ

‘วังวนกัญชา’ ชะตากรรมแรงงานเวียดนามในอังกฤษ

เซือง เหวียน อาศัยอยู่อย่างโดดเดียวในบ้านชนบทอังกฤษ ห่างจากบ้านเกิดหลายพันกิโลเมตร เพื่อประคบประหงมพืชที่ปลูกมาหลายเดือน เขาเป็นหนึ่งในแรงงานอพยพชาวเวียดนามหลายพันคนในอุตสาหกรรมกัญชามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของอังกฤษ

เซือง วัย 41 ปี เข้าอังกฤษอย่างผิดกฎหมาย โดยซุกซ่อนตัวใต้รถบรรทุกจากนั้นเข้ามาปลูกกัญชาในบ้าน โรงแรม และแม้แต่ในคอกม้า

การเดินทางสุดเสี่ยงของเซือง จากคนจนในเมืองท่าไฮฟองลักลอบเข้าไปปลูกกัญชาในอังกฤษ ทั้งหมดนี้มาจากความฝันอันยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“สิ่งเดียวที่ผมอยากได้ตลอดมาคือเงิน ไม่ว่าจะผิดหรือถูกกฎหมายก็ตาม” เซืองที่ตอนนี้กลับไปเวียดนามแล้วเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี

การค้ากัญชาขนานใหญ่ในอังกฤษซึ่งเป็นงานผิดกฎหมายมีแก๊งคนเวียดนามอยู่เบื้องหลัง นักวิจัยประเมินว่าทำเงินได้ปีละราว 3.2 พันล้านดอลลาร์

เซืองอ้างว่า เขาตั้งใจไปอังกฤษเพื่อหาเงินในประเทศที่ราคากัญชาแพงสุดในยุโรป แต่หลายคนรวมทั้งเด็กๆ ไม่ได้เป็นแบบเดียวกับเซือง พวกเขาถูกหลอกในรูปของการค้ามนุษย์ให้ทำงานให้กับเจ้าพ่อยาเสพติดชาวเวียดนาม ที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นตัวการใหญ่ในธุรกิจกัญชาอังกฤษ

เรื่องราวของนักค้าผู้ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยตนเอง และเป็นข้อต่อชั้นล่างรายนี้เผยให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งในเส้นทางชีวิตของแรงงานต่างถิ่นชาวเวียดนาม ทั้งยังเผยให้เห็นเรื่องราวของคนชายขอบในประเทศบ้านเกิด ที่แก๊งอาชญากรรมฉวยจังหวะความยากจนขาดโอกาส หาคนหน้าใหม่มาเป็นลูกมือ

เซืองเคยลักเล็กขโมยน้อยและเสพยามาก่อน เขาเดินทางมาอังกฤษในปี 2551 ตอนอายุได้ 29 ปีเซืองเล่าว่า ตอนนั้นการค้ากัญชาส่อแววทำเงิน เขาจ่ายเงิน 15,000 ดอลลาร์ให้นายหน้าหาหนังสือเดินทางปลอมมาให้ แล้วเดินทางร่วมกับกรุ๊ปทัวร์มายุโรป

เซืองออกจากกรุ๊ปทัวร์ในฝรั่งเศส แล้วใช้เส้นทางที่ผู้อพยพรู้จักกันดีไปยังค่ายในกาเลส์ ที่พ่อค้ายาเวียดนามจัดการให้เขาติดใต้ท้องรถบรรทุกข้ามช่องแคบเข้าอังกฤษ

“ถ้าตกคุณก็ตาย” เซืองเล่าวินาทีระทึก เขาต้องเดินทางข้ามคืนไปยังโดเวอร์ร่วมกับชาวเวียดนามอีก 3 คน

เมื่อมาถึงประเทศใหม่โดยที่ตนเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แน่นอนว่าทางเลือกในชีวิตย่อมมีจำกัด เซืองจำต้องกลับไปขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายแรงงานย้ายถิ่นอีกครั้ง สุดท้ายไปลงเอยที่เมืองบริสตอล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ทำงานให้กับชายคนหนึ่งที่ดูแลฟาร์มกัญชาหลายแห่งในบ้านชนบท

เซืองต้องทำงานด้วยตัวเองโดยต้องอยู่แต่ในบ้าน คนดูแลส่งอาหารให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

“ผมตื่นแต่เช้า กินข้าว เตรียมตัวดูแลต้นไม้ นำมาวางใต้ไฟ 2 ชั่วโมงแล้วรดน้ำ” เซืองย้อนเล่าถึงงานประจำวันที่ทำไปกลัวถูกจับไป

ตำรวจอังกฤษทลายฟาร์มกัญชาหลายแห่ง ทั้งในคอกสุนัข ผับ โรงพยาบาลร้าง และแม้แต่หลุมหลบภัยนิวเคลียร์เก่า หลายแห่งดำเนินการโดยชาวเวียดนาม

สภาผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติอังกฤษเผยว่าผู้ต้องหาคดีกัญชาทั้งหมดในอังกฤษเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 12% มากกว่าทุกสัญชาติที่ไม่ใช่ยุโรป ตำรวจต้องใช้เวลา 6 เดือนจึงตรวจพบการปลูกกัญชาแถวบ้านของเซือง

เซืองกลัวมากจับกัญชายัดลงถังขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้ววิ่งหนี แต่ไม่นานนักเขาก็กลับมาทำธุรกิจอีก คราวนี้ปลูกในโรงแรมแห่งหนึ่งใกล้บริสตอล มีรายได้เกือบ 19,000 ดอลลาร์ ถือว่าล่ำซำเมื่อเทียบกับเงินเดือนในเวียดนาม แต่เซืองกล่าวหาว่าเจ้านายโกงเขาไปหลายพันดอลลาร์

แรงงานย้ายถิ่นจากเวียดนามส่วนใหญ่มาจากจังหวัดยากจนทางภาคกลาง หลายคนมุ่งหน้าสู่อังกฤษส่งเงินให้ที่บ้านซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์คันใหม่ รวมทั้งซ่อมบ้าน แต่เส้นทางนี้แสนแพง ต้องเสียค่าเอกสารเดินทางและตั๋วเครื่องบินสูงถึง 40,000 ดอลลาร์ โดยปกติบินไปยุโรปตะวันออกก่อนแล้วค่อยเดินทางทางบกไปยังอังกฤษ

หลายคนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ทันที่ที่ข้ามช่องแคบอังกฤษพวกเขาก็เป็นหนี้หลายพันดอลลาร์ ทั้งยังต้องถูกบังคับให้ทำงานในซ่อง ร้านทำเล็บ หรือฟาร์มกัญชา

รายงานจากองค์กรต่อต้านการใช้แรงงานทาสนานาชาติ องค์กรพิทักษ์สิทธิเด็ก “เอ็กซ์แพทยูเค” และมูลนิธิแปซิฟิกลิงค์ส อ้างถึงข้อมูลจากรัฐบาลลอนดอน ระบุ ระหว่างปี 2552-2561 ชาวเวียดนามผู้ใหญ่และเด็กกว่า 3,100 คน อาจตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์

ในที่สุดเซืองก็มุ่งหน้าสู่กรุงลอนดอน เขาอยู่ที่นั่นหลายปี ขายยาบ้าง สอนคนปลูกกัญชาหน้าใหม่บ้าง แต่มาถูกจับในปี 2557 ฐานสูงกัญชา รอยนิ้วมือของเขาตรงกับบ้านที่ปลูกกัญชาในบริสตอล แฟ้มคดีชี้ว่าเขามีความผิดฐานปลูกกัญชา มีโทษจำคุก 10 เดือน ครบกำหนดก็ถูกกระทรวงมหาดไทยเนรเทศกลับเวียดนาม

ตั้งแต่ปี 2557 มีชาวเวียดนามอาสาหรือถูกบังคับกลับประเทศกว่า 1,600 คน ซึ่งเซืองเป็นหนึ่งในนั้น ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 14 ปีมีอย่างน้อย 22 คน ส่วนเด็กอีกหลายร้อยคนกระทรวงมหาดไทยระบุว่า เป็นไปได้ว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

มิมิ วู ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการค้ามนุษย์กล่าวว่า บางคนกลับมาเวียดนามด้วยหนี้สิน และเสี่ยงถูกล่อลวงอีก ภายใต้วงจรอาชญากรรมและความยากจน

สำหรับเซือง การปรับตัวเข้ากับชีวิตเวียดนามนั้นยากมาก เขากลับมาเวียดนามอย่างบอบช้ำ ตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านโล่งๆ ที่ไฮฟอง แต่เขาบอกว่า เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว ตั้งใจจะเปิดร้านเสริมสวยไว้เลี้ยงลูกที่จะมีกับแฟนใหม่

“ในอดีตผมเป็นคนดุเดือดก้าวร้าว ตอนนี้ผมเป็นคนอ่อนโยนใจดี” อดีตพ่อค้ายาเล่าถึงชีวิตใหม่ในบ้านเกิด