ธปท.คลายเกณฑ์แบงกิ้งเอเยนต์ 

ธปท.คลายเกณฑ์แบงกิ้งเอเยนต์ 

ธปท.เตรียมปรับหลักเกณฑ์แบงกิ้งเอเยนต์ ลดข้อจำกัดการบริการ หวังเพิ่มความคล่องตัวให้แบงก์  เปิดทางให้ตั้งบุคคลธรรมดาเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ได้  พร้อมเพิ่มเพดานถอนเงินสด จากเดิม 5 พันบาท เป็น 2 หมื่นบาท หวังช่วยลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม 

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์ และพิจารณาแนวทางในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ผ่านช่องให้บริการ (Banking Channel)และการใช้บริการจากบุคคลภายนอก (Outsourcing)มากขึ้น

แม้ธนาคารพาณิชย์จะมีรูปแบบช่องทางการให้บริการที่หลากหลายในปัจจุบัน เช่น สาขา ตู้ATM หรือช่องทางดิจิทัล  รวมถึงการแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์(banking Agent) อาจจะยังไม่เพียงพอในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ธปท. ตระหนักถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปข้างต้น จึงต้องทบทวนหลักเกณฑ์ เพื่อเพิ่มคล่องตัวในการประกอบธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้การพิจารณาแนวทางดังกล่าว ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 8-21ต.ค.นี้ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของธปท.

โดยแนวทางการเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ เช่น การปิดสาขา ให้แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย30วัน จากเดิม 45 วัน ,เปิดให้ลูกค้าเป็นผู้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางโทรศัพท์ เช่น การทำธุรกรรมผ่านเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ สามารถให้บริการนอกสถานที่ได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด ,เพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งก โมบายแบงกิ้ง 

นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตประเภทธุรกรรมแบงกิ้งเอเยนต์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งบุคคลธรรมดาเป็นเอเย่นต์ในธุรกรรมบางประเภทได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากธปท. เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการเข้าถึงบริการของลูกค้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีสาขาธนาคารหรือเอทีเอ็มให้บริการ เป็นต้น พร้อมพิจารณา ยกเลิกเพดานในการถอนเงินผ่านเอเย่นต์ต่อครั้งเพิ่มขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกินครั้งล่ะ 5,000 บาท เป็นไม่กิน20,000บาทต่อวันต่อบัญชี เพื่อลดปัญหาการจ่ายค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน

ด้านนางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดให้แบงก์มีช่องทางอื่นๆ ในการให้บริการทางการเงินมากขึ้น จะส่งผลให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าธนาคารมากขึ้น  โดยเฉพาะด้านแบงกิ้งเอเยนต์ ที่ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งบุคคล นิติบุคคลได้หลากหลายเพื่อมาให้บริการแทนแบงก์ จะทำให้คนอีกจำนวนมากเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้านี้

“วันนี้ความต้องการผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แบงก์ก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะแบงกิ้งเอเย่นต์ ที่ต่อไปจะเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ใครก็ได้ แบงก์สามารถไปใช้โครงสร้างพื้นฐานนั้น ทำธุรกรมการเงินให้กับลูกค้าธนาคารได้ ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี จะไม่ได้ต้องลงทุนซ้ำซ้อน และลดค่าธรรมเนียมของลูกค้าลงด้วย”

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การผ่อนเกณฑ์ของธปท.เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่จำเป็นในการเลือกใช้บริการจากช่องทางใหม่ๆในอนาคต เชื่อว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ธนาคารต้องพิจารณาอย่างรัดกุม โดยเฉพาะการคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะตามมาในอนาคต ทั้งต่อแบงก์และลูกค้าแบงก์ ดังนั้นการแต่งตั้งตัวแทน หรือการขยายช่องทางการบริการ ถือเป็นเรื่องที่แบงก์ต้องศึกษา และพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น