เปิดแผนยุทธศาสตร์ 'อว.' ส่ง วิจัย/นวัตกรรม 'ลดความเหลื่อมล้ำ'

 เปิดแผนยุทธศาสตร์ 'อว.' ส่ง วิจัย/นวัตกรรม 'ลดความเหลื่อมล้ำ'

เปิดแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขานรับยุทธศาสตร์ชาติด้านลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม วางกรอบวงเงิน 2,426 ล้านบาท ขีดเส้น 3 ปี เกิดชุมชนนวัตกรรม 1,000 ชุมชน ลดช่องว่างระดับพื้นที่ลงเหลือ 3 เท่า

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาของกระทรวง สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ด้านรวมถึงด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดย อว.จัดสรรงบประมาณปี 2563 รองรับจำนวน 2,426 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนา อว.กำหนดแผนระยะสั้นปี 2563-2565 แนวทางการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ กำหนดเป้าหมายที่จะกระจายความเจริญและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่น ด้วยการส่งเสริมให้มีความสามารถพึ่งพาตนเองบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษาและสวัสดิการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

ตัวอย่างโครงการในแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น อว.จัดสรรงบประมาณไว้ 1,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้เกิดชุมชนนวัตกรรม 1,000 แห่ง ซึ่งจะมี 1-3 ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายหรือเป็นสมาชิก ในแต่ละชุมชนจะประกอบด้วย 30-60 ครัวเรือน ประมาณการว่าจะมีประชาชนเข้ามาอยู่ในแผนการนี้อย่างน้อย 3-9 หมื่นคน (อ้างอิงจากรายงานจำนวนสมาชิกในครัวเรือนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) แต่ละครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มจาก 5.8 หมื่นบาทต่อปี เป็น 1.5 แสนบาทต่อปี 

ในการขับเคลื่อนชุมชนนวัตกรรมจะมีหน่วยงานในพื้นที่เป็นกลไกหลัก อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีที่ได้รับการส่งเสริมจากอุทยานฯ โดยจะผนวกกับโครงการอาสาประชารัฐ มีคอนเซปต์คือ นักศึกษาในโครงการอาสาประชารัฐนำความรู้หรือเทคโนโลยีถ่ายทอดสู่ชุมชนควบคู่กับการเรียนรู้วิถีชุมชน โดยมีนักขับเคลื่อนชุมชน (อาจารย์ ผู้นำชุมชน โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์) ร่วมสนับสนุน และการทำงานเชื่อมโยงกับ อว.และมหาวิทยาลัย ส่วนคนทำงานคือ คนในชุมชน

157157859319

ปลานิลประเดิม “1 ไร่ 1 ล้านบาท”

นอกจากนี้ อว.ยังมีโครงการ “1 ไร่ 1 ล้านบาท” จะดำเนินการร่วมกับสภาหอการค้าไทย เป็นการต่อยอดโครงการ “1 ไร่ 1 แสนบาท” สร้างรายได้เพิ่ม 10 เท่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงปลานิลหนาแน่นระบบปิด จากที่เลี้ยงในบ่อดินขนาด 1 ไร่ จำนวนปลาประมาณ 900 ตัว อัตราการรอดชีวิต 70-80% จะเพิ่มเป็น 6.4 หมื่นตัวต่อไร่ อัตราการรอดชีวิตสูงกว่า 90%  อว.จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อขยายฐานการส่งออกและตั้งเป้าการส่งออกเป็น 8.4 พันล้านบาทในปี 2565 จากยอดการส่งออกปลานิลในปัจจุบัน 5 พันล้านบาท และจะต่อยอดสู่หลักหมื่นล้านบาทให้ได้ในอนาคต

ในส่วนของโครงการมังคุดมุ่งแก้ปัญหาผลผลิตขนาดเล็ก ผิวไม่สวย ยางสีเหลืองแตกซึมสู่ผลด้านใน ทำให้ถูกตลาดต่างประเทศตีกลับ ทาง สอวช.จึงสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการติดเซ็นเซอร์ตรวจติดตามวัดค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโต เช่น ความชื้นในอากาศและในดิน ปริมาณน้ำฝน แร่ธาตุในดินในแต่ละสภาพอากาศ ตลอดจนการศึกษาหน้าที่และการทำงานของส่วนต่างๆ ของต้นและผล เช่น ผนังเซลล์ของท่อน้ำเลี้ยง ระบบการลำเลียงสารอาหาร โดยนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาประมวลผลร่วมกัน กระทั่งพบคำตอบที่ต้องการจากนั้นจึงส่งต่อข้อมูลไปให้เกษตรกร

 

157157925443

สมาร์ท คอมมูนิตี้ เพิ่ม 1,500 ตำบล

เช่นเดียวกับโครงการเกี่ยวกับมะม่วงที่มุ่งแก้ปัญหาด้านการส่งออก โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สุกซึ่งต่างประเทศให้ความนิยมมาก โดย อว.สนับสนุนให้จัดทำโครงการ “การศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา และการลดความเสียหายของมะม่วงฉายรังสีแกมมา กระทั่งประสบผลสำเร็จในปี 2562 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ สามารถทำการส่งออกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทางหน่วยงานของ อว.จะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกต่อไป

ทางด้านผลผลิตทุเรียน ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการผักและผลไม้ และกลุ่ม เกษตรกร ในภาคตะวันออก เพื่อเตรียมความพร้อมได้รับมาตรฐาน ThaiGAP / Primary ThaiGAP ซึ่งมีทั้งมาตรฐานระดับพื้นฐานและระดับส่งออกต่างประเทศช่วยให้เกิดระบบความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารในท้องถิ่น เกิดระบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และรองรับตลาด ร้านอาหาร ภัตตาคารโรงพยาบาลและตลาดสดในท้องถิ่น เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับกลุ่มตลาดขนาดเล็ก ขณะที่ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังเกษตรกรที่ทำการผลิตได้ โดยใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (QR Code) ซึ่งมีหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยของผลผลิตที่ได้บริโภค เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ จากแผนงานการพัฒนาเชิงพื้นที่ อว.ตั้งผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญภายในปี 2570 ในเบื้องต้นดังนี้ เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำ ระดับพื้นที่ลงเหลือ 3 เท่า, เกิดนวัตกรรมชุมชนเพื่อยกระดับรายได้ให้กับชุมชน ปีละ 1,000 นวัตกรรม,จำนวนตำบลที่มีการสร้างความรู้และนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงและจัดการปัญหาชุมชนไม่น้อยกว่า 50% หรือจำนวนชุมชนนวัตกรรม/สมาร์ท คอมมูนิตี้ เพิ่มขึ้น 1,500 ตำบล และมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทรัพยากรและวัฒนธรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี