“ชอบ แฮนด์ดิคราฟ” ปั้นดินสร้างธุรกิจของจิ๋ว

“ชอบ แฮนด์ดิคราฟ” ปั้นดินสร้างธุรกิจของจิ๋ว

‘สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์’ ครีเอทีฟดีไซเนอร์ ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่กับการสร้างแบรนด์ “ชอบ แฮนด์ดิคราฟ” (Chob Handicrafts) ที่เริ่มต้นธุรกิจจากความชอบ แล้วลงมือแสวงหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติมตั้งแต่ทักษะการปั้นจนถึงการวางแผนการตลาด

“จะรอให้พร้อม หรือเดินหน้าลุยเพื่อปั้นธุรกิจในฝัน? เป็นคำถามที่ใครหลายคนอดกังวลไม่ได้ แต่สำหรับ อดา กลิ่นบุญฟุ้ง หรือคุณ “เหมือนเปี๊ยบ” กล่าวผ่านทาง TCDCCONNECT ไว้ว่า “ไม่ต้องรอให้ตัวเองเก่งก่อน เพราะคนที่เก่งเขาลงมือทำโดยไม่รีรอ  ความพร้อม 100% จริง ๆ มันไม่มี สิ่งสำคัญคือ เมื่อเจอปัญหาแล้ว จะมีมุมมอง และจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร”

ด้วยใจที่ตั้งมั่นพ่วงความชอบเป็นทุนเดิมทำให้ คุณเหมือนเปี๊ยบ และพี่สาวจูงมือกันไปเรียนงานปั้นเพื่อสานต่อความฝันในการสร้างธุรกิจของจิ๋ว ผลิตภัณฑ์คราฟท์ของไทยที่มีความเหมือนจริงภายใต้แบรนด์ “ชอบ แฮนด์ดิคราฟ” (Chob Handicrafts) ที่ก่อตั้งมาเพียงแค่ขวบปี แต่ด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียดจึงทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคิดค้นเนื้อดินสูตรพิเศษที่เหมาะกับงานปั้นขนาดเล็ก โดยเน้นความสมจริงในทุกมิติของชิ้นงาน เช่น สีของวัสดุ พื้นผิวสัมผัส และการขึ้นรูปที่ให้อารมณ์ และความรู้สึกเสมือนจริง ในกรณีที่สามารถใช้วัสดุจริงได้ ก็จะนำวัสดุนั้น ๆ มาใช้ เช่น การใช้อะลูมิเนียมจริงในการทำตะหลิวขนาดเล็ก เป็นต้น

157157745593

นอกจากความเสมือนจริงแล้ว เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของการสร้างสรรค์ผลงานคือ การถ่ายทอดวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของความเป็นไทย เช่น คอลเลคชั่น “ศรัทธา” หิ้งพระบูชาขนาดเล็กพร้อมของถวายครบครันเหมาะกับพื้นที่ใช้สอยในห้องพักตามคอนโดที่มีพื้นที่ไม่มากนัก โมเดลรถเข็นขายอาหารข้างทาง หรือโมเดลขนมหวานต่าง ๆ ร้านขายส้มตำ เป็นต้น นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถนำชิ้นงานไปจัดแต่ง และสร้างเรื่องราวตามความชอบของตนเองได้ด้วย แตกต่างจากสินค้าดินปั้นทั่วไปที่จะติดกาวเชื่อมกันไว้ ดัดแปลงไม่ได้ นอกจากความสวยงามสำหรับวางโชว์แล้ว ผลิตภัณฑ์บางชิ้นก็สามารถนำไปใช้งานได้ด้วย เช่น ที่วางสมาร์ทโฟนพร้อมโมเดลขนาดจิ๋ว เหมาะกับการตั้งวางไว้บนโต๊ะทำงาน 

อีกหนึ่งแนวคิดของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นธุรกิจจาก “ความชอบ” พร้อมสานต่อ “ความฝัน” ปั้นธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ทักษะงานปั้น การเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะทางธุรกิจกับหน่วยงาน CEA เพื่อเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวางแผนธุรกิจ การเพิ่มช่องทางการขาย แนวคิดการทำการตลาด เพื่อมัดใจกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างตรงจุด

*บทความโดย สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ Creative Designer ร่วมแชร์แนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานได้ทาง Facebook.com/suwitdesign