Green Pulse l “เมืองอาหารที่ดี” ลดโลกร้อน

Green Pulse l “เมืองอาหารที่ดี” ลดโลกร้อน

นายกเทศมนตรี 14 เมืองใหญ่ของโลกแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในเมืองเพื่อช่วยลดโลกร้อน

ในการประชุมนายกเทศมนตรีโลก หรือ C 40 World Mayors Summit ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา (9-12 ตุลาคม 2562) นายกเทศมนตรีของเมืองใหญ่ๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็น ปารีส ลอสแอนเจลิส โตเกียว โซล ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเป็น “เมืองอาหารดี” (Good Food Cities) โดยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ตามโรงอาหารของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเร่งด่วนในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate crisis)

โดยในแถลงการณ์ที่ได้ลงนามร่วมกัน พวกเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับนโยบายอาหารของพวกเขาให้เป็น “planetary health diet” หรืออาหารเพื่อสุขภาพของโลก ซึ่งจะอุดมไปด้วยอาหารจากพืชผักและลดปริมาณเนื้อสัตว์ลงภายในปี 2573 โดยปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ระบุไว้ในนโยบายนั้น จะลดลงเหลือไม่เกิน 300 กรัมต่อคนต่อสัปดาห์

ในปีนี้ มีเมืองกว่า 100 เมืองทั่วโลกได้เข้าร่วมการชุมนุมประจำปี ภายใต้ข้อตกลงนโยบายอาหารเมืองแห่งมิลาน (Miland Urban Food Policy Pact) ที่เมืองมงเปลิเยในฝรั่งเศส ก่อนที่จะมีการประชุมนายกเทศมนตรีโลกที่กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก

โดยเมืองต่างๆ จะนำคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้เพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืน ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นเป้าหมายในแผนรับมือฯ

เมืองที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ ได้แก่ บาร์เซโลนา, โคเปนเฮเกน, กัวดาลาฮารา, ลิมา, ลอนดอน, ลอสแอนเจลิส, มิลาน, ออสโล, ปารีส, เมืองเกซอน ประเทศฟิลิปปินส์, โซล, สต็อกโฮล์ม, โตเกียว และโตรอนโต

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ 65 คนจาก 11 ประเทศร่วมเรียกร้องให้บรรดาผู้ว่า และนายกเทศมนตรีในเมืองต่างๆ ทั่วโลกลดปริมาณการแจกจำหน่ายอาหารที่นำจากเนื้อสัตว์ตามโรงอาหารของหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฉุกเฉินในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในขณะนี้

พีท สมิธ (Pete Smith) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน และผู้เขียนนำของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้เป็นแกนนำในการนำนักวิทยาศาสตร์ออกโรงเรียกร้องการลดอาหารที่ทำจากเนื้อในโรงอาหารของหน่วยงานรัฐในเมืองต่างๆ

โดยนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมทั้งหมด แสดงข้อเรียกร้องให้มีการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสัตว์ทุกชนิด อันจะมีส่วนอย่างยิ่งในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตอาหาร และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ “เพื่อสรรสร้างอนาคตที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งพลเมืองและโลกใบนี้ พวกเราขอให้บรรดาผู้ว่าและนายกเทศมนตรีทั้งหลายลดอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ตามโรงอาหารของหน่วยงานรัฐ และหันมาเพิ่มสัดส่วนอาหารที่ทำมาจากพืชเป็นหลัก (plant-based foods) ให้มากขึ้น”

ในปัจจุบัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอุตสาหกรรมปศุสัตว์และการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์นั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 14.5 ของการปล่อยก๊าซ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนายกเทศมนตรีโลกถูกระบุว่า เป็นเมืองที่มีผลงานโดนเด่นในเรื่องนี้ เพราะได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แนวทางการลดการบริโภคเนื้อและหันมาพึ่งพาอาหารจากพืชเป็นหลักเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ โดยกรุงโคเปนเฮเกนเพิ่งจะผ่าน “แผนยุทธศาสตร์ด้านอาหาร” ฉบับใหม่ ที่มีเป้าหมายเพื่อตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 25% ภายในปี 2568 ด้วยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาเพิ่มอาหารจากพืชให้มากขึ้น

องค์กรต่อต้านมลพิษระดับโลก กรีซพีซ ได้ร่วมเรียกร้องให้เหล่าผู้ว่าและนายกเทศมนตรีของเมืองเหล่านี้ ใช้โอกาสครั้งนี้ให้คำมั่นในการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอาหารของเมือง ซึ่งรวมถึงการลดปริมาณเนื้อสัตว์ที่มีให้บริการอยู่ตามโรงอาหารสาธารณะของเมืองนั้นๆ

เรเยส ทิราโด นักวิทยาศาสตร์อาวุโสประจำห้องปฎิบัติการวิจัยกรีนพีซ กล่าวว่า กรีนพีซมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำทั้ง 14 เมืองใหญ่จากสามทวีปทั่วโลกออกมาแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ตามโรงอาหารหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนฯรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องให้เมืองอื่น ๆ ทำเช่นเดียวกัน

“เรากำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดวิกฤตนี้คือ การผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบายของเมืองเหล่านี้ได้ตระหนักถึงพลังของพวกเขาในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และถึงเวลาที่เมืองต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามอย่างรวดเร็ว” เรเยส ทิราโด กล่าว

ภาพ/ C40 Cities FB Page