นับถอยหลัง แบนสารพิษเกษตร

นับถอยหลัง แบนสารพิษเกษตร

เครือข่ายเกษตรกรรมสนับสนุนการแบนสารพิษระบุ สัญญาณทางการเมืองยังไม่ชัดเจนพอ

แม้จะมีการส่งสัญญาณจากผู้นำสูงสุดของรัฐบาลคือ นายรัฐมนตรีในเรื่องการแบนสารพิษเกษตร 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่ามีความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม, หากเครือข่ายเกษตรกรรมที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการแบนสารพิษดังกล่าวยังมองว่าสัญญาณทางการเมืองดังกล่าว ยังไม่ชัดเจนมากพอที่จะฟันธงได้ว่า ในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่คาดหมายว่าจะมีวาระพิจารณาการแบนสารพิษดังกล่าวในวันอังคารนี้ จะมีการแบนสารพิษตามข้อเสนอที่ประชุม 4 ฝ่าย ตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรีเอง และตามมติของคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่แล้ว

โดยในวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยกล่าวว่าตนได้แสดงจุดยืนตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วมา เสนอให้ “ลดละเลิก”สารเคมีดังกล่าวซึ่งได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาและขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลพิจารณาดำเนินการซึ่งมีคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำลังดำเนินการให้ไปตามขั้นตอน

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BioThai หนึ่งในองค์กรนำในเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายกรัฐมนตรียังเป็นในลักษณะกลางๆ ไม่บวกไม่ลบ และยังมีการเอ่ยถึงการดำเนินการไปตามขั้นตอน ซึ่งทำให้เห็นว่าอาจยังมีทางเลือกอื่น นอกเหนือจากการแบนสารพิษทั้งหมด ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ยังไม่ได้ส่งสัญญาณทางการเมืองที่ชัดแจ้งไปว่า ให้มีการแบนสารพิษจากผู้นำสูงสุด ซึ่งรัฐมนตรีมักจะต้องฟังและปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม นายวิฑูรย์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวในการแบนสารพิษเกษตรทั้ง 3 ชนิดที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งในเชิงกระบวนการทำนโยบายสาธารณะ กล่าวคือ นับเป็นครั้งแรกๆ ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวแสดงบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ทำให้ภาคการเมืองยากที่จะปฏิเสธ ส่งผลให้มีการขยับทางการเมืองในระดับพรรคการเมืองซีกรัฐบาลที่เป็นไปในทิศทางที่ตอบรับกระแสความต้องการของภาคประชาชน

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบันที่เป็นประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญคือต้องอิงกับคะแนนเสียง ทำให้ประชาชนมีพลังในการต่อรองมากขึ้นกว่ายุครัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งจะเห็นได้ในกรณีของพรรคภูมิใจไทย ที่รับฟังความเห็นของนักวิชาการและเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีคนในพรรคนั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

และเมื่อพรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องสารพิษเกษตร พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีเลขาธิการนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงต้องกำหนดท่าทีในเรื่องนี้ในที่สุด นายวิฑูรย์กล่าว

“พอมาเป็นการเมืองแบบใหม่ มีการเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองเค้าก็ต้องจับกระแสอยู่เหมือนกัน จริงๆมีพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทย หรือเศรษฐกิจใหม่ที่เคยเอาเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงในพื้นที่ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยตอนแรกไม่ได้ประกาศ แต่พอเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเค้าก็เลยทำ ไม่ว่าจะเป็นเพราะแรงผลักจากการเมืองท้องถิ่นหรือเพราะเสียงสนับสนุนที่อยากได้ มันเลยกลายเป็นเรื่องที่เค้าต้องทำ” นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวในการแบนสารพิษ ยังทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการเมืองท้องถิ่นที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับภาคการเมืองและนโยบายในระดับชาติอย่างที่มันควรจะเป็น โดยนายวิฑูรย์ได้ยกตัวอย่างถึง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ที่ถือได้ว่าเป็นนักการเมืองที่เติบโตมาจากการเมืองท้องถิ่นและได้รับฟังปัญหาเรื่องสารเคมีเกษตรในพื้นที่มานานพอสมควร ก่อนที่จะมีโอกาสได้เข้ามาผลักดันในระดับนโยบายระดับประเทศและของพรรค ซึ่งมีผลให้พรรคภูมิใจไทยต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตรทั้ง 3 ชนิดอย่างที่เห็น

นายวิฑูรย์มองถึงความเป็นไปได้ในการประชุมในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ว่า หากเกิดการแบนสารพิษจริง มันจะเกิดหมุดหมายเชิงสัญญลักษณ์ของการปรับเปลี่ยนเชิงเนื้อหาของนโยบายด้านการเกษตรและอาหารของประเทศ เพราะสารพิษทั้ง 3 ชนิด นับได้ว่าเป็นฐานของการผลิตขนาดใหญ่ของการเกษตรเชิงเดี่ยว มีสัดส่วนการนำเข้าถึง 30% (30.000-60,000 ตันต่อปี)และมีมูลค่าไม่ตำ่กว่าสองหมื่นล้านบาทต่อปี

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงระบบอุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ที่พึ่งพาสารเคมีและการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจต่างๆ ไปจนถึงพืชอาหารสัตว์ จะถูกตั้งคำถาม และนำไปสู่การทบทวนและแสวงหาทางเลือกของระบบการทำเกษตรที่ยั่งยืนขึ้น

เพราะมีความสัมพันธ์โยงใยกันดังกล่าว นายวิฑูรย์กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแค่บริษัทสารเคมีที่ออกมาคัดค้านการเคลื่อนไหวแบนสารพิษ หากแต่ยังมีอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบเชิงเดี่ยวเดียวกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านด้วย

ด้วยเหตุนี้ นายวิฑูรย์มองว่า การแบนสารพิษอาจยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างที่ต้องการในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ และขณะนี้ พบสัญญาณบางอย่างที่อาจส่งผลต่อกำหนการประชุมที่จะถึงนี้ ดังจะเห็นได้จากวาระของที่ประชุมที่ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงการแบนสารพิษ นายวิฑูรย์กล่าว หลังจากได้เห็นร่างวาระการประชุม

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวก่อนวันประชุมอย่างเข้มข้นในขณะนี้ โดยสำนักข่าวอิศรา ได้รายงานว่า ครอปไลฟ์ เอเชีย (CropLife Asia) ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรใหญ่ของโลก ได้เข้ายื่นจดหมายแก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำเสนอรายละเอียดประเด็นที่คิดว่าจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างเต็มที่และเป็นธรรม กรณีการห้ามใช้ “สารอารักขาพืช” 3 ชนิด และขอโอกาสเข้าพบนายกฯ เพื่อชี้แจงผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศของการใช้สารฯ ด้วยความรับผิดชอบ โดยในจดหมาย แสดงการตำหนิการทำงานของรัฐมนตรีช่วยฯ มนัญญาว่า จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในตลาดทางการเกษตรในต่างประเทศ และทำให้เกษตรกรที่ใช้สารเหล่านี้มีความเสี่ยงไปด้วย

และในวันที่ 21 ต.ค.นี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอุตสาหกรรม 6 ชนิด จะขอเข้าพบ รมว. เกษตรฯเฉลิมชัย ศรีอ่อน ให้ชะลอการยกเลิกใช้ 3 สารเคมี โดยนายเฉลิมชัยกล่าวว่าไม่ว่ามติ คกก.วัตถุอันตราย จะออกมาอย่างไร แต่แนวทางกระทรวงเกษตรฯ ชัดเจน มีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนรวมทั้งได้เตรียมมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรปลอดสาร

ส่วน รมช. มนัญญา กล่าวว่า ตนได้ทำเรื่องนี้สุดเอื้อมแล้ว และเรื่องนี้ดำเนินมาไกลเกินกว่าที่จะมาพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ได้เสียอีกแล้ว

“ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียนรัฐมนตรีหลายประเทศได้มาให้กำลังใจและรู้สึกดีใจที่ประเทศไทยจะยกเลิกการใช้สารเคมี เพราะประเทศของเขาก็เลิกใช้สารเคมีแล้ว ดิฉันคิดไม่ถึงเลยว่า จะได้รับกำลังใจขนาดนี้จากประเทศในอาเซียน” รมช. มนัญญา กล่าว

กราฟฟิค/BioThai