“เบร็กซิทแล้ว อังกฤษไปไหน” เปิดไทม์ไลน์ดีลประวัติศาสตร์

“เบร็กซิทแล้ว อังกฤษไปไหน” เปิดไทม์ไลน์ดีลประวัติศาสตร์

“สหภาพยุโรป” หรือ อียู ในวันที่จะไม่มี “สหราชอาณาจักร” หรืออังกฤษ จะเกิดอะไรขึ้นกับการรวมตัวแห่งภูมิภาคยุโรปแห่งนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้าซึ่ง "กระทรวงพาณิชย์" ได้เปิดบทวิเคราะเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (นายบอริส จอหน์สัน) และประธานกรรมาธิการยุโรป (นายฌ็อง-โคล้ด ยุงเคอร์) ได้ร่วมกันแถลงว่า สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากการเป็นสมาชิกอียูได้แล้ว เมื่อวันที่17ต.ค.2562และจะต้องนำข้อตกลงดังกล่าวเสนอให้รัฐสภายุโรป และรัฐสภา สหราชอาณาจักรเห็นชอบ ภายในวันที่19ต.ค.นี้ เพื่อให้ทันกำหนดที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในวันที่31ต.ค.2562

หากข้อตกลงฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของทั้งสองฝ่าย สหราชอาณาจักรก็จะสามารถออกจากการเป็นสมาชิกอียูได้ แต่จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี2563ก่อนที่ สหราชอาณาจักรจะเเยกตัวออกจากอียูอย่างสมบูรณ์

โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ สหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นสมาชิก อียูและใช้กฎระเบียบของอียู ปูทางให้ภาคธุรกิจเเละพลเมืองทั้งสองฝ่ายมีเวลาในการปรับตัว รวมทั้งผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจกับสหราชอาณาจักรและอียูก็จะมีเวลาในการเตรียมความพร้อมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษ ลงมติคืนวันเสาร์(19ต.ค.)ให้เลื่อนการตัดสินใจรับรองร่างข้อตกลงเบร็กซิทฉบับของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกไปเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งเท่ากับกดดันให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องไปขอให้สหภาพยุโรป(อียู)ชะลอเวลาการถอนตัวออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักรออกไปอีก จากกำหนดเดิมต้องออกในวันที่ 31 ต.ค.นี้

1571503353100

อรมน กล่าวอีกว่า หากรัฐสภาสหราชอาณาจักรไม่เห็นชอบข้อตกลง เนื่องจากยังมีสมาชิกรัฐสภาและพรรคการเมืองคัดค้าน สหราชอาณาจักรก็อาจมีทางเลือก คือ (1)ขอให้อียูขยายกำหนดเบร็กซิทออกไป เพื่อให้มีเวลาในการเจรจาจัดทำข้อตกลงถอนตัวที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย แต่จะยืดเวลาไปแค่ไหน ทั้งสองฝ่ายคงต้องตกลงกัน ซึ่งไม่น่าจะขยายได้นานเกินไป หรือ (2)ออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit)ในวันที่31ต.ค.2562ตามกำหนดเดิม

“ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้เคยประกาศว่า หากเกิดno dealได้เตรียมที่จะยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจำนวนกว่า87%ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น จิวเวลรี่ ชิ้นส่วนยานยนต์ แว่นตา อาหารปรุงแต่ง ยางรถยนต์ เครื่องสำอาง และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งอียู”

ขณะที่จะยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้า อีก13%ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) เนื้อหมู เนื้อแกะ ข้าว น้ำตาล เซรามิก รถยนต์ เอธานอล เนย และชีส เป็นต้น เป็นระยะเวลา1ปี เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาปรับตัวและส่งผลกระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการและส่งออกของไทย ควรแสวงโอกาสจากการยกเว้นภาษีดังกล่าว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าศักยภาพของไทย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ของทำด้วยพลาสติก และจิวเวลรี่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี2561สหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า3,963ล้านดอลลาร์ โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น จิวเวอรี่ ฮาร์ดดิสก์ ชิ้นส่วนยานยนต์ กระสอบและถุงทำจากพลาสติก วงจรพิมพ์ เครื่องเงิน แว่นตา เครื่องสำอางค์ ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบของเครื่องพิมพ์ เป็นต้น สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าจากไทยมูลค่าสูงเป็นสินค้าโควตาภาษี เช่น ข้าว ไก่แปรรูป พาสต้า ซอส และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น