งบฯผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มากน้อยได้หมดขอความต่อเนื่อง

งบฯผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มากน้อยได้หมดขอความต่อเนื่อง

ประธานฯ โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ระบุงบมากน้อยไม่สำคัญ แต่ต้องได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลลัพธ์เชิงสมรรถนะของผู้เรียน ที่ตอบสนองความต้องการของภาคการผลิต

รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร ประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายThailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (ปี2561-2565) กล่าวถึงการอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว. ) เกี่ยวกับโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่มีการติงว่างบฯได้น้อย ว่า งบประมาณจะมากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่ากับงบประมาณดังกล่าวต้องได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลาหนึ่ง

อาทิ  5 รุ่น สำหรับการผลิตหลักสูตรแบบหลักสูตรระดับปริญญา(degree) และแต่ละรุ่นต้องสนับสนุนให้ครบตามเวลาที่ กำหนดไว้ในหลักสูตร  และหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree)ที่เพิ่มและปรับเปลี่ยนทักษะอาชีพ (Up-Skills/Re-skills)  เป็นต้น เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ของโครงการ  ซึ่งโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่มีเป้าประสงค์ คือสร้างระบบนิเวศของการอุดมศึกษาที่ตอบ สนองสังคมดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นอกจากนี้งบฯที่สนับสนุนควรไม่มีข้อจำกัดการใช้ที่เป็นรายการเฉพาะ หรือเป็นงบฯเฉพาะต่อหัวผู้เรียน เนื่องจากเป็นการดำเนินการตอบสนองความหลากหลายกับการผลิตบัณฑิต เน้นผลลัพธ์เชิงสมรรถนะของผู้เรียน ที่ตอบสนองความต้องการของภาคการผลิต ซึ่งจะมีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน 

ส่วนงบฯต้องประกอบด้วยงบการบริหารจัดการโครงการ เช่น งบฯการพัฒนาสมรรถนะของสถาบันอุดมศึกษาด้านการออกแบบหลักสูตร งบฯการบริหารจัดการการอุดมศึกษา งบฯสมรรถนะอาจารย์ด้านการเรียนการสอน และความเชี่ยวชาญ ชำนาญการของอาจารย์ผู้สอนจากการปฏิบัติการจริง  และงบฯการประเมินและพัฒนายก ระดับผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินการที่ผ่านมาช่วงระยะแรกมหาวิทยาลัยยังไม่ค่อยเข้าใจโครงการ ส่วนงบฯที่ได้รับช่วงแรก 1,000 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอในการกระตุ้นความสนใจ แต่เมื่อมีสถาบันอุดมศึกษาและเอกชนเข้าใจและมีศักยภาพทำได้มากขึ้น งบฯก็ควรจะเพิ่มขึ้น หรือมีตัวอย่างที่เห็นผลเชิงประจักษ์ เพื่อการกระจายตัวตอบสนองผู้เรียนในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ” รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ภาคการผลิตต้องการบัณฑิตจำนวนเท่าไหร่ และต้นทุนการผลิตจะเท่าไหร่ ตอนนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่เรื่องของงบฯผมเห็นว่าสุดควรจะเป็นงบฯปกติของการจัดการการอุดมศึกษาในการผลิตกำลังคนอุดมศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตในอนาคต 

โครงการดังกล่าว ดำเน้นการตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ (ปี 2561-2565) และสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม (New Growth Engine) ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะรับผิดชอบการสร้างบัณฑิตในระดับอุดมศึกษา ได้ดำเนินโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 23 แห่ง ตั้งแต่ในปี 2561 เป็นต้นมา

โดยจัดการเรียนการสอนแบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ 1) หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) จำนวน 123 หลักสูตร และหลักสูตรระดับปริญญา (Degree) 99 หลักสูตร และในปี 2562 อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะเปิดรับข้อเสนอจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมเพื่อเข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่

ปัจจุบัน มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ได้เสนอหลักสูตรที่จะเข้าร่วมในโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ประจำปีการศึกษา 2562 เข้ามาจำนวน 57 แห่ง แบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ  จำนวน 24 แห่ง   มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) 12 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 8 แห่ง 

มหาวิทยาลัยเอกชน  13 แห่ง จำนวนบัณฑิตที่จะรับ จำนวน 50,614  คน แบ่งเป็น ระดับปริญญาบัตร 180  หลักสูตร จำนวน 26,151 คน และระดับประกาศนียบัตร 367 หลักสูตร จำนวน 24,463 คน  จากข้อมูลเบื้องต้นถือว่าสถาบันอุดมศึกษาตื่นตัวมากในการเข้าร่วมโครงการอย่างมาก จากปีการศึกษา 2561 มีเพียงสถาบันอุดมศึกษาเพียง 23 แห่งเท่านั้น