1 ทศวรรษ “น่านโมเดล” เศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนายั่งยืน

1 ทศวรรษ “น่านโมเดล” เศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนายั่งยืน

"น่าน" จังหวัดเล็กๆในพื้นที่ภาคเหนือเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านท่องเที่ยวและเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญ ปัญหาของน่านที่สะสมมานานทั้งในเรื่องความยากจนและหนี้สินได้รับการแก้ไขด้วย "ศาสตร์พะราชา" ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

   แม้“น่าน”เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว และมีความสำคัญในฐานะป่าต้นน้ำที่สำคัญเนื่องจากแม่น้ำน่านที่ไหลลงสู่เจ้าพระยาถึงกว่า 40% แต่ในอดีตน่านกลับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประชากรที่เผชิญกับปัญหาความยากจน มีความไม่แน่นอนของรายได้สูงจากการพึ่งพา

   ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เลือก จ.น่านเป็นพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพิเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ตั้งแต่เมื่อปี 2552 เป็นต้นมา ถึงปัจจุบันมีการดำเนินการโครงการต่างๆในพื้นที่มาแล้วกว่า 10 ปี  โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนกำหนดพื้นที่นำร่องเป็นต้นแบบ 3 อำเภอ คือ 1.อำเภอท่าวังผา 2.อ.สองแคว และ 3.อ.เฉลิมพระเกียรติ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 250,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน ซึ่งสถาบันฯอยู่ระหว่างวางแผนการพัฒนาพื้นที่จ.น่านต่อไปในอนาคต รวมถึงการผลักดันให้น่านเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริอีกด้วย

    นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่าจากการที่ปิดทองหลังพระฯได้ประยุกต์แนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่านมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆในการสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่ชนบทซึ่งเดิมประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหายากจน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดย ซึ่งการทำงานโดยน้อมนำแนวพระราชดำริโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ช่วยทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากอาชีพหลักและอาชีพเสริม การปลูกพืชทางเลือก รวมถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเข้มแข็งสนับสนุนการรวมกลุ่มและพึ่งพาตนเองได้ของประชาชนเป็นหลัก   

    การดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯใน จ.น่าน ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดการพัฒนาตามหลักทฤษฎีบันได 3 ขั้นคือ 1.การสร้างความอยู่รอดในระดับครัวเรือน โดยขยายระบบน้ำเพื่อการเกษตร สามารถเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ 11620 ไร่ จากเดิมมีเพียง 2012 ไร่ ซึ่งช่วยให้ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร 739 ล้านบาท 2.ส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิตสินค้าในระดับชุมชน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามความต้องการของตลาด โดยมีกลุ่มและกองทุนของชาวบ้านในพื้นที่ 24 กลุ่ม มีเงินสะสมในกองทุน 5.26 ล้านบาท มีครัวเรือนที่เข้ามาเป็นสมาชิกในกองทุน 779 ครัวเรือน และ 3.การสนับสนุนให้ชุมชนเชื่อมโยงออกสู่ภายนอก โดยเปิดรับความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ โดยมีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตร ทำให้สามารถเชื่อมโยงกับตลาดที่รับซื้อผลผลิตของชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวไร้สารพิษบ้านยอด อ.สองแคว เป็นต้น

   การผลักดันโครงการต่างๆในพื้นที่ต้นแบบของปิดทองหลังพระทำให้ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนอยู่ที่ 150,115 บาทต่อครัวเรือนต่อปี  สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆในจังหวัดน่านที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 19,591 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่หนี้สินโดยเฉลี่ยของคนในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯในจ.น่าน ก็ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆโดยเฉลี่ยมีหนี้สินอยู่ที่ 43,718 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆมีหนี้สินเฉลี่ยสูงถึง 201,991 บาทต่อครัวเรือน โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มากกว่าในพื้นที่อื่นๆเนื่องจากมีการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ การวางระบบชลประทาน การให้ความรู้ในเรื่องการเกษตร การส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นๆหลังการทำนา โดยผลผลิตข้าวเห็นได้ว่าเพิ่มเป็น 530 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าผลผลิตโดยเฉลี่ยทั่วประเทศที่อยู่ที่ 414 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น

   “น่านเป็นเสมือน social lab ซึ่งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการทำงานพัฒนาร่วมกันกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ และยังเป็นต้นแบบที่มีการรวมกลุ่มกันทำงานเพื่อชุมชนอย่างเข้มแข็ง ทั้งการทำงานที่เน้นการฟื้นฟูและรักษาป่า การปรับปรุงระบบนิเวศน์ อนาคตของการพัฒนาพื้นที่จ.น่าน คือเราจะผลักดันให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดต่างๆในภาคเหนือ เพื่อให้จังหวัดต่างๆโดยเฉพาะที่อยู่ใกล้เคียงมาศึกษาโมเดลการพัฒนาจังหวัดน่านมากขึ้น”นายชาติชาย กล่าว