5 กลยุทธ์ 'ครัวบินไทย' เสริมรายได้สู้วิกฤติขาดทุน

5 กลยุทธ์ 'ครัวบินไทย' เสริมรายได้สู้วิกฤติขาดทุน

“ครัวบินไทย”เสริมพันธมิตร ปั้นรายได้ธุรกิจหมื่นล้าน เพิ่มช่องทางจำหน่ายอาหาร จับมือ "อเมซอน" ขยายพัฟแอนด์ไพน์ ผนึก "ไลน์" ส่ง 10 เมนูเด็ดถึงบ้าน

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 6,800 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกับปีก่อน 122% ทำให้ต้องเร่งขับเคลื่อนการรายได้เพื่อให้ธุรกิจกลับมามีกำไร โดยให้โจทย์นี้กับทุกหน่วยธุรกิจ รวมถึงครัวการบิน ซึ่งแม้ว่าจะมีรายได้ปีละ 8,400 ล้านบาท ในขณะที่รายได้รวมการบินไทยปีที่แล้วอยู่ที่ 199,500 ล้านบาท แต่รายได้ครัวการบินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจครัวการบินสร้างรายได้ให้การบินไทยปีละ 8.400 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.รายได้จากธุรกิจอาหารจำหน่ายบนเครื่องบิน (Aviation) 7,600 ล้านบาท

2.การจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้อยู่บนสายการบิน (Non-flight) หรือ “non-aviation” ซึ่งสร้างรายได้ปีละ 800 ล้านบาท แต่ตามภายใน 5 ปี ข้างหน้า ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ครัวการบินเป็น 12,000 ล้านบาท

การเติบโตของธุรกิจการบินขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนผู้โดยสาร โดยในไทยมีข้อจำกัดเรื่องของความหนาแน่นของสนามบินสุวรรณภูมิและความหนาแน่นของน่านฟ้า ในขณะที่การเติบโตของธุรกิจอาหารบนเครื่องบินในเอเชียแปซิฟิกเติบโต 4–5% ต่อปี แต่ปีนี้เติบโตได้ 2% เป็นการเติบโตจาก Legacy Airlines หรือ Full-service Airlines 

ส่วนสายการบินโลว์คอร์สแอร์ไลน์ไม่สามารถคาดหวังเรื่องการจำหน่ายอาหารได้มากนักเพราะเปอร์เซนต์การสั่งอาหารทานบนเครื่องบินมีไม่มากนัก

“ยุทธศาสตร์ของครัวการบินใน 5 ปีข้างหน้า ต้องการเป็นผู้ให้บริการด้านอาหารที่เป็นเลิศ คงรสชาติดั้งเดิม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอาหารไทยแต่เป็นเลิศในทุกชาติ"

สาเหตุสำคัญที่วางยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาจาก การบินไทยมีทีมเชฟที่ทำอาหารได้หลากหลาย ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ทั้งในประเทศและในภูมิภาค โดยกำหนดกลยุทธ์ไว้ทั้งธุรกิจ Aviation และ Non-aviation เป็นการต่อยอดจากแบรนด์ของการบินไทยที่มีแบรนด์ค่อนข้างแข็งแกร่งมาก มีความสะอาดได้มาตรฐานสากลและต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์และภาพลักษณ์ที่ดีไปสู่ธุรกิจใหม่ได้

ธุรกิจ Aviation มีสัดส่วนรายได้ 90% ของรายได้ครัวการบิน ซึ่งเป็นฐานรายได้หลักของธุรกิจ มีลูกค้าสายการบินที่เป็นลูกค้าของครัวการบิน 50 สายการบิน โดยส่วนนี้จะมุ่งรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ ขณะเดียวจะเพิ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งนอกจากจะมองตลาดยุโรปและสหรัฐที่มีขาดใหญ่ ยังมองตลาดตะวันออกกลางและกลุ่มมุสลิมที่มีโอกาสเติบโตได้มาก เพราะมีประชากรถึง 1 ใน 3 ของโลก และครัวการบินเพิ่งขยายไลน์การผลิตอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 5,000 จาน เป็นวันละ 10,000 จาน เพื่อรองรับโอกาสนี้

“จุดแข็งของครัวการบิน คือ มีประวัติศาสตร์ที่เปิดมากว่า 60 ปี รับผู้โดยสารปีละ 20 ล้านคน มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งช่วยเป็นทดสอบรสอาหารได้อย่างดี รวมถึงอาหารไทยโด่งดังทั่วโลก ทำให้เมื่อพูดถึงการบินไทยจะนึกถึงอาหารบนเครื่องบินด้วย”

สำหรับธุรกิจ Non-aviation เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมาก ซึ่งในแผนธุรกิจ 5 ปี ตั้งเป้าว่าเติบโตปีละ 20% เพื่อให้ธุรกิจส่วนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว จากที่ปัจจุบันมีรายได้ปีละ 800 ล้านบาท หรือเพิ่มเป็น 1,600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจอาหารบนเครื่องบินมากเกินไป

ครัวการบินมีแผนขยายธุรกิจ Non-aviation หลายช่องทาง แบ่งเป็น 5 ส่วน คือ 

1.ขยายสาขาร้านพัฟแอนด์พาย จากปัจจุบันมี 41 สาขา แบ่งเป็นร้านที่การบินไทยบริหารเอง 20 สาขาและร้านผู้แทนจำหน่าย 21 สาขา โดยจะพิจารณาหาพันธมิตรมาร่วมขยาย ซึ่งที่ผ่านมาลงนามความร่วมมือกับร้านกาแฟอเมซอน ในการเป็นร้านผู้แทนจำหน่ายขนมของพัฟแอนด์พาย ซึ่งในปีนี้จะขยายไปในร้านอเมซอนได้ครบ 71 สาขา โดยจำหน่ายขนมอบสด สลัดและเบเกอรี่

ส่วนร้านอเมซอนมี 2,000 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นเฟสต่อไปที่จะนำขนมแห้งที่เก็บรักษาได้ง่ายไปวางขาย ซึ่งได้หารือจะขยายการจำหน่ายขนมไปที่ร้านอเมซอนในลาวและกัมพูชา

“โมเดลธุรกิจที่มีพันธมิตรร่วมดำเนินการจะช่วยเติมเต็มกัน เช่น ปตท.เก่งเรื่องกาแฟ การบินไทยเก่งเรื่องขนม ก็มาเติมต็มกันและมีแผนที่จะทำร้าน Co-brand ร่วมกัน และอยู่ระหว่างการทำ Business model ร่วมกันว่าร้านที่จะเปิดร่วมกันจะออกมาในลักษณะใด”

157148425362

2.ธุรกิจอาหารแช่แข็งและเบเกอรี่แช่แข็ง มีแนวโน้มขยายตัวได้ ซึ่งจะป้อนให้ธุรกิจอาหารบนเครื่องบิน รวมทั้งจำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและเอาเล็ทต์ในต่างประเทศ เพราะการบินไทยมีคาร์โก้ขนส่งสินค้า และมี Area Manager แต่ละเมือง 

แนวทางนี้กำลังหาพันธมิตร ซึ่งได้ศึกษาแล้วว่าจะใช้วงเงินลงทุนเพิ่ม 1,200 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเสริมการขยายร้านพัฟแอนด์พายไปต่างจังหวัดได้ เพราะส่งขนมและเบเกอรี่แช่แข็งไปยังร้านต่างๆในสาขาต่างจังหวัดได้ ขณะที่ธุรกิจอาหารและเบเกอรรี่บรรจุกล่อง สแน็คบ๊อกซ์ของร้านพัฟแอนด์พายได้รับความนิยม ซึ่งล่าสุดทำสัญญากับ บขส.นำไปเสิร์ฟบนรถชั้น 1 ทำสัญญากัน 3 ปี โดยครัวการบินมีรายได้จากสัญญานี้ปีละ 100 ล้านบาท 

รวมทั้งในอนาคตมีโอกาสขยายธุรกิจจำหน่ายขนมและอาหารไปยังโรงพยาบาล โดยเน้นอาหารคนไข้ที่มีพื้นฐานจากการผลิตอาหารที่ให้บริการบนสายการบินที่ต้องสะอาดมาก

3.การเปิดภัตตาคารของการบินไทย เพิ่มในสไตล์ไทย Local life รวมทั้งจะเปิดครัวการบินที่เชียงใหม่ใช้เงินลงทุน 70 ล้าน เพื่อรับลูกค้า Legacy fight ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมแล้ว และปี 2563 จะเปิดใหม่อีกแห่งที่ภูเก็ตบนถนนย่านเมืองเก่า ซึ่งตั้งงบลงทุนปีหน้าไว้ 70 ล้านบาทเช่นกัน

4.ธุรกิจการบริหารเลาจ์ของสายการบิน ซึ่งการบินไทยบริหารให้สายการบินอื่นด้วย โดยปี 2563 คาดว่าจะได้ลูกค้าเข้ามาอีก 2 ราย และรายได้จากธุรกิจนี้เป็นรายได้ที่แน่นอนและมีส่วนแบ่งรายได้ที่ดี ส่วนเลาจ์ของการบินไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิจะปรับปรุงและเปิดใหม่เดือน ต.ค.นี้ 

5.การจำหน่ายอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นและบริการส่งด้วยไลน์แมน ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา เริ่มต้น 10 เมนู เช่น ข้าวหมกได่ สลัดแซลมอน ข้าวไก่เทอริยากิ โดยใช้ฐานของครัวดอนเมืองเป็นจุดส่งสินค้า รวมทั้งมีแผนที่จะร่วมมือกับผู้ให้บริการส่งอาหารรายอื่นด้วย

การขับเคลื่อนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์จะต้องสร้างทีมขายให้ใหญ่ขึ้นและตื่นตัวมากขึ้น เพราะการทำธุรกิจของครัวการบินจะแตกต่างจากการขายอาหารบนเครื่องเหมือนในอดีต เพราะต้องมีการขายผ่านช่องทางใหม่ เช่น แอพพลิเคชั่น

“ธุรกิจรีเทลแข่งขันสูง มาร์จิ้นอาจจะน้อย ดังนั้นการทำสินค้าให้พรีเมี่ยมและไม่มุ่งแข่งขันตลาดราคาต่ำเป็นกลยุทธ์ของเรา”