"ซีพีเอ็น"หนุนเอสเอ็มอีทรานส์ฟอร์ม ปั้นโมเดลใหม่บุกตลาด

"ซีพีเอ็น"หนุนเอสเอ็มอีทรานส์ฟอร์ม ปั้นโมเดลใหม่บุกตลาด

ธุรกิจศูนย์การค้าเผชิญการแข่งขันรอบทิศทางทั้งจากช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โจทย์สำคัญ!! จะสร้างความแตกต่างของร้านค้าปลีกและบริการต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อเป็นแม่เหล็กที่ทรงพลัง! นำเสนอสิ่งใหม่ ตรงใจ และดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการตลอดเวลาได้อย่างไร?

ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล และเซ็นทรัลเวิลด์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกการค้าปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำธุรกิจจึงเผชิญความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโกลบอลไลเซชั่นที่ทำให้การแข่งขันไร้พรมแดน!! ความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ทำให้รูปแบบของการทำธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการหลายแบรนด์ที่ทำธุรกิจกับซีพีเอ็นมีทั้งความเข้มแข็งสามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยดี  แต่บางแบรนด์ที่ไม่มีการปรับตัวก็ถูกดิสรัป

ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ต้องเร่ง ทรานฟอร์ม” ก้าวสู่โลกการค้ายุคใหม่ ซึ่ง ซีพีเอ็น ได้สร้างหลักสูตร “CPNlead” เป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพติดอาวุธให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ซึ่งโตคู่ขนานซีพีเอ็นในการขยายตลาด โดยใช้ประสบการณ์ และองค์ความรู้ในธุรกิจค้าปลีกถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้จริงและพัฒนากิจการฝ่ากระแสการแข่งขันสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน!!

"CPNlead เป็นเสมือนหลักสูตรเรียนลัดในการทำธุรกิจค้าปลีก มีโอกาสได้ร่วมมือกับนักธุรกิจด้วยกัน เพื่อต่อยอด สร้างความเข้มแข็ง ขยายธุรกิจไปได้อย่างรวดเร็ว"

ศักยภาพที่โดดเด่นของผู้ประกอบการหลายแบรนด์สามารถต่อยอดพัฒนาโปรดักท์ อินโนเวชั่น กลยุทธ์การตลาดใหม่ รวมถึง พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ รองรับการขยายเครือข่ายของผู้ประกอบการในอนาคต

ซีพีเอ็น ยังวางแนวทางสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นและเอสเอ็มอีผ่านโครงการ สตาร์ทอัพมาร์เก็ต” เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเข้ามาทดลองทำธุรกิจจริง และร่วมพัฒนาให้เป็นธุรกิจที่อยู่ในศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลอย่าง “ถาวร  ยังมีโครงการ สตาร์ทอัพ เฟสติวัล ให้ธุรกิจในท้องถิ่นต่างๆ ได้นำสินค้ามาทดลองตลาด จำหน่ายข้ามภูมิภาคทั่วประเทศอีกด้วย 

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการได้ทดลองทำตลาดจริงกับลูกค้าในงาน “YOUNIQUE Market” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นบนทำเลยุทธศาสตร์ของซีพีเอ็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ 

เรากระตุ้นให้เอสเอ็มอีรุ่นใหม่คิดนอกกรอบ ด้วยโจทย์การเรียนที่เน้นการ Break-through potential เปิดโอกาสให้แต่ละแบรนด์กล้า Collab สินค้าและบริการระหว่างแบรนด์และข้ามแคธิกอรี่ ทำให้เกิดเป็นไอเดียทั้งนวัตกรรมใหม่ แบรนด์คอนเซปต์ใหม่ๆ ที่เกิด Story Telling ให้มีจุดเด่นและน่าดึงดูดสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีไลฟ์สไตล์ที่เปิดกว้างและลงลึกมากขึ้น

สำหรับปีนี้ได้คัดเลือกแบรนด์ที่มีพัฒนาการสามารถคิดค้น “Business Model” ได้โดดเด่นที่สุดเป็นโชว์เคส!! อันดับ 1 พสิษฐ์ รัตน์จารุพงศ์ จากแบรนด์ Kiss me doll ธุรกิจผ้าพันคอที่มีเอกลักษณ์จากลายผ้าปริ้นท์สีหวาน พาสเทล ปรับแนวคิดกระทั่งได้พัฒนาโปรดักท์ใหม่ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ที่กว้างขึ้นภายใต้ชื่อ Kiss me pls. ที่มีคอนเซปต์แตกต่างจากรูปแบบเดิมด้วยลายผ้าที่เรียบเก๋ และโทนสีที่หลากหลาย 

อันดับ2 ทวีสิทธิ์ กาญจนวงศ์ไพศาล จากแบรนด์ KLANDTH ร้านเสื้อผ้ามัลติแบรนด์แนวสตรีทแฟชั่นที่รวมแบรนด์ดังส่งตรงจากเกาหลี โดดเด่นด้วย “Strategy” ใช้ดาต้าวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายจนเข้าใจ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ ตีโจทย์ความต้องการได้ชัดขึ้นเกิดไอเดียใหม่ในการทำธุรกิจ “K Story” สร้าง Engagement และ Experience กับลูกค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งการทำสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่น จากการคอลแลป กับแบรนด์ดังจากเกาหลี

อันดับ 3 จารุวรรณ แซ่เตี๋ย จากแบรนด์ ZleepSleep ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มและชุดเครื่องนอนโดดเด่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความกล้าคิดและกล้าลงมือทำทันที ได้ครีเอทไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากการคิดนอกกรอบภายใต้แบรนด์ใหม่ “BeeX” ชุดนอนแบบLife wearด้วยคอนเซปต์ใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่

ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตร CPNlead กล่าวว่า ต้องการปั้น “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ของไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตผ่านเครื่องมือ “Retail Success Formula” สามารถวางแผนธุรกิจเป็นระบบ เป็นมืออาชีพ เปิดมุมมองการทำธุรกิจกว้างขึ้น และมองการเติบโตในระยะยาว

"ผู้ประกอบการหลายคนมีไอเดียและPassion แต่การลุยทำธุรกิจและคิดคนเดียวอาจทำให้มองภาพได้ไม่ครบรอบด้าน!!

ผู้ประกอบการต้องเน้น “Collaborate” เพื่อคิดค้นโปรดักท์ใหม่!!  มีการทำ Co-Marketing หรือ Co-Branding ช่วยลดขั้นตอนการลองผิดลองถูกคนเดียว ซึ่งพาร์ทเนอร์ธุรกิจนำไปต่อยอดได้จริงจะเป็น ฟาสต์แทร็ก ในการเรียนรู้และขยายธุรกิจได้ทันที