‘แควนตัส’ทดสอบเที่ยวบิน‘นันสต็อป 19 ชม.’

‘แควนตัส’ทดสอบเที่ยวบิน‘นันสต็อป 19 ชม.’

สัปดาห์นี้สายการบินแควนตัสเริ่มทดสอบบริการเที่ยวบินพาณิชย์ บินตรงจากนิวยอร์กสู่ซิดนีย์เป็นครั้งแรก วัดสภาพความอึดทั้งร่างกายและจิตใจของเหล่าผู้โดยสารและตัวเครื่องบิน กับการเดินทางไกลขนาดนี้แบบนันสต็อป

“แควนตัส” สายการบินแห่งชาติออสเตรเลีย วางแผนทดสอบเที่ยวบินดังกล่าวที่ถือไว้ไกลมากๆ 3 ครั้งในปีนี้ ครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นในวันศุกร์ (18 ต.ค.) ตามเวลาสหรัฐ เครื่องบินโบอิง 787-9 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 40 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานแควนตัส เดินทางออกจากนครนิวยอร์กมีกำหนดถึงนครซิดนีย์เช้าวันอาทิตย์ (20 ต.ค.) โดยนักวิจัยจะคอยตรวจสอบถึงผลกระทบที่มีต่อผู้โดยสารจากการเดินทางนาน 19 ชั่วโมงแบบไม่หยุดพัก

จำนวนผู้โดยสารถูกจำกัดเพื่อให้มีน้ำหนักบรรทุกน้อยที่สุด เปิดโอกาสให้เครื่องบินมีน้ำมันเพียงพอเดินทางประมาณ 16,000 กิโลเมตรโดยไม่ต้องเติมน้ำมัน ขณะมุ่งหน้าไปทางตะวันตกข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งไม่เคยมีสายการบินใดทำได้มาก่อน อลัน จอยซ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แควนตัสเรียกว่า “ปราการด่านสุดท้ายของการบิน”

บนเครื่องนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย 2 คน จะคอยตรวจดูรูปแบบการหลับ ระดับเมลาโทนิน และการรับประทานอาหารของผู้โดยสาร ส่วนนักบินก็ต้องสวมอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นสมองและความตื่นตัวด้วย

และเนื่องจากเวลาระหว่างนิวยอร์กับซิดนีย์ต่างกัน 15 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์จำต้องจับตาผลกระทบของเจ็ตแล็กอย่างใกล้ชิด

“เราทราบจากวิทยาศาสตร์พื้นฐานเรื่องจังหวะการเต้นของหัวใจว่าต้นทางและปลายทางที่เวลาต่างกันมากกว่า และการเดินทางไปทางตะวันออกแทนที่จะเป็นตะวันตก มีแนวโน้มทำให้ผู้โดยสารเจ็ตแล็กได้มากกว่า แต่อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางและเปลี่ยนเขตเวลาก็แตกต่างกันมากในแต่ละคน เราจำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติมหาสาเหตุของเจ็ตแล็กและการอ่อนเพลียในการเดินทาง เพื่อให้เราสามารถลดผลกระทบจากเที่ยวบินระยะไกลได้” สตีเฟน ซิมป์สัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าว

ปีที่แล้วแควนตัสเปิดเที่ยวบินตรงเที่ยวแรก จากเมืองเพิร์ธทางภาคตะวันตกของออสเตรเลียสู่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ใช้เวลาเดินทาง 17 ชั่วโมง ถือเป็นเที่ยวบินโดยสารเดินทางนานที่สุดในโลกเที่ยวหนึ่ง และไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แควนตัสจะทดสอบเที่ยวบินลอนดอน-ซิดนีย์ เหมือนกับที่ทดสอบเส้นทางนิวยอร์ก-ซิดนีย์เช่นกัน

ขณะนี้แควนตัสกำลังพิจารณาเปิดบริการเที่ยวบินพาณิชย์ทางไกลอีกหลายเส้นทาง หากเศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนจะเปิดเส้นทางใดบ้างนั้นจะตัดสินใจสิ้นปีนี้ ที่จอยซ์กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจทางธุรกิจโดยแท้

ส่วนอุปสรรคอื่นๆ มาจากภายในองค์กรเอง นั่นคือเหล่านักบินที่กังวลถึงผลกระทบต่อการบินระยะไกลต่อมาตรฐานความปลอดภัย

สมาคมนักบินนานาชาติและนักบินออสเตรเลีย (ไอปา) ซึ่งเป็นตัวแทนนักบินแควนตัส กล่าวว่า เที่ยวบินทดสอบให้ข้อมูลเพียงจำกัด ไม่พอที่จะนำไปใช้กับสภาพการบินจริง

เชน โลนีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยไอปา เรียกร้องให้มีการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ระยะยาวถึงผลกระทบที่มีต่อลูกเรือ

"นักบินต่างกังวลว่าจะได้พักผ่อนเพียงพอจนสามารถทำงานได้เต็มที่เหมือนเดิมหรือไม่ระหว่างบินระยะทางไกลมาก เราเชื่อว่าต้องมีการเฝ้าระวังอย่างดีในการปฏิบัติการช่วงแรกๆ เพื่อสร้างหลักประกันว่าไม่เกิดผลร้ายที่ไม่อยากให้เกิดตามมา"

ด้านโฆษกแควนตัสแถลงว่า การทดสอบบินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานที่สายการบินกำลังทำ เพื่อประเมินว่าจะดำเนินการเที่ยวบินอย่างไรให้ปลอดภัย

ขณะที่แอร์บัสและโบอิงต่างนำเสนอเครื่องบินให้แควนตัสใช้สำหรับเส้นทางไกลมาก แต่จอยซ์กล่าวว่า แควนตัสยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ของใคร