คาดสภาอังกฤษโหวตคว่ำเบร็กซิท

คาดสภาอังกฤษโหวตคว่ำเบร็กซิท

นายกอังกฤษ เห็นชอบข้อตกลงเบร็กซิทกับอียู รอเสนอให้รัฐสภาลงมติรับรอง ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโหวตคว่ำอีกครั้ง ขณะรองผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษเตรียมขึ้นดอกเบี้ย หากอังกฤษออกจากอียูได้อย่างราบรื่น

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายฌ็อง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ถึงความสำเร็จในการเจรจาห็นชอบข้อตกลงเบร็กซิท เพื่อนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ต.ค. นี้ โดยนายยุงเกอร์ กล่าวว่า ร่างข้อตกลงเบร็กซิทฉบับนี้ถือว่าเป็นธรรมและเท่าเทียมที่สุด สอดคล้องกับนายจอห์นสัน ที่กล่าวว่า อังกฤษสามารถทำความตกลงที่ยิ่งใหญ่กับอียูได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อตกลงเบร็กซิทฉบับใหม่ ทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าอียูและอังกฤษจะสามารถลงนามเพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้หรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอการผ่านลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษเสียก่อน ซึ่งเสียงในสภาอังกฤษขณะนี้ พรรครัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างน้อย หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา สภาสามัญได้โหวตด้วยมติ 328 ต่อ 301 เสียง คัดค้านร่างเบร็กซิทในแบบไม่มีข้อตกลงของนายจอห์นสัน โดยในจำนวนคะแนนเสียง 380 เสียงที่ค้านแผนของนายจอห์นสันครั้งนี้ มีเสียงของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมรวมอยู่ด้วยถึง 21 คนด้วยกัน

นอกจากนั้น การลงมติข้อตกลงเบร็กซิทฉบับใหม่ในครั้งนี้ ยังต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคดีพียูของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นพรมแดนเดียวของอังกฤษที่อยู่ติดกับประเทศสหภาพยุโรป (อียู)ซึ่งก็คือประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งทางดีพียู มีคำแถลงในทันทีว่าจะไม่สนับสนุนแผนของนายจอห์นสัน เนื่องจากไม่มีหลักประกันใดๆเกี่ยวกับการจัดการพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (แบ็กสต็อป) ส่งผลให้ร่างเบร็กซิทฉบับใหม่ที่จะเข้าสภาครั้งนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ผ่านการรับรอง

ด้านนายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานและผู้นำฝ่ายค้าน ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวดูแย่กว่าข้อตกลงที่เคยถูกนำเสนอโดยเทเรซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนและข้อตกลงของนายบอริส อาจจะถูกปฏิเสธโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะประชุมร่วมกันในวันเสาร์นี้ (19ต.ค.)

ส่วนมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าฝ่ายเจรจาของอียู กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ ไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักรยังจะใช้กฎการค้าสอดคล้องกับกฎของอียู โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสินค้า และไอร์แลนด์เหนือยังจะอยู่ในตลาดเดี่ยวของอียูในระยะแรก ทั้งยังมีการตกลงเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของตลาดเดี่ยว ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มของอังกฤษ ที่สำคัญคือตัวแทนของไอร์แลนด์เหนือจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอยู่ภายใต้กฎของอียูต่อไปหรือไม่ในทุกๆ 4 ปี

สำหรับข้อเสนอของนายจอห์นสันในการเจรจาครั้งนี้คือ การถอนเรื่องแบ็กสต็อป ซึ่งหมายถึงการไม่ปิดกั้นพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ออกไปจากข้อตกลง ซึ่งนายจอห์นสัน หวังว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เขายังได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิทในพรรคอนุรักษ์นิยม และจากพรรคดียูพี แต่การลาออกของ ส.ส. และการปลดผู้ควบคุมเสียงในสภา (วิป) ของพรรคอนุรักษ์นิยมกว่า 20 คน ทำให้นายจอห์นสัน อาจตกที่นั่งลำบากในสภา

เรื่องพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของอียู

ขณะที่นายเดฟ แรมส์เดน รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เปิดเผยว่า เขายังคงมองเห็นโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากอังกฤษสามารถถอนตัวออกจากอียูได้อย่างราบรื่น โดยเขายังคงสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของบีโออี

นายแรมส์เดน กล่าวว่า เขาไม่ได้พูดถึงกรอบเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่พูดถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่จำกัดและค่อยเป็นค่อยไปตามกรอบเชิงคุณภาพที่สมเหตุสมผล