โบรกสั่งแตะเบรกหุ้นโรงไฟฟ้า ชี้ราคาพุ่งแรง พี/อี ทะลุ 40 เท่า

โบรกสั่งแตะเบรกหุ้นโรงไฟฟ้า ชี้ราคาพุ่งแรง พี/อี ทะลุ 40 เท่า

หุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ราคาพุ่งเฉลี่ย 52% ตั้งแต่ต้นปี กินสัดส่วน 40% ของกลุ่มพลังงาน โบรกมองราคาหุ้นเริ่มแพงหลัง P/E พุ่งทะลุ 40 เท่า ขณะที่เงินปันผลหลายตัวเหลือเพียง 1%

ปัจจุบันหากลองพิจารณาหุ้นกลุ่มพลังงานของไทย แน่นอนว่ายังคงเห็นผู้นำกลุ่มเป็นหุ้นพลังงานขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อย่าง ปตท. (PTT) และปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ด้วยมูลค่าตลาด (Market Capitalization) รวมกันประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท จากมาร์เก็ตแคปของทั้งกลุ่มพลังงานที่ราว 3.97 ล้านล้านบาท

แต่เมื่อพิจารณาลงไปมากกว่านั้น จะพบว่า 7 ใน 10 หุ้น ที่มีมาร์เก็ตแคปมากที่สุดในลำดับ "รองลงมา"  ของกลุ่มพลังงานในปัจจุบัน กลับเป็นหุ้นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเป็นหลัก มีมาร์เก็ตแคปรวมกันถึง 1.33 ล้านล้านบาท และตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้ง 7 บริษัทนี้ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 52% หนุนให้หุ้นโรงไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 40% ของหุ้นกลุ่มพลังงาน ด้วยมาร์เก็ตแคปกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน

สำหรับ 7 หุ้นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผลิตไฟฟ้า (EGCO) โกลว์ พลังงาน (GLOW) บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และราช กรุ๊ป (RATCH)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นขณะนี้เทียบกับผลประกอบการในปัจจุบัน ทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(P/E) ของหุ้นเหล่านี้พุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 43 เท่า ขณะที่เงินปันผลตอบแทนของหลายบริษัทก็ต่ำเพียง 1%

"สุทธิชัย คุ้มวรชัย" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ปัจจุบันถือว่าค่อนข้างแพงเมื่อพิจารณาจากค่า P/E รวมถึงอัตราเงินปันผลที่ลดต่ำลงจนบางตัวเหลือเพียง 1-2%

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขึ้นมาในปีนี้ เป็นผลจากการโยกย้ายเงินลงทุนมายังกลุ่มหุ้น Defensive เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงหลายๆ อย่าง เช่น สงครามการค้า ซึ่งกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยก็กลับมาเป็นขาลงอีกครั้ง แม้จะหนุนตลาดทุนได้บ้าง แต่หุ้นในกลุ่มหลักที่อิงกับเศรษฐกิจโลกก็ยังมีความเสี่ยงอยู่

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างแพง ซึ่งก็เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงสูง ทำให้นักลงทุนยังให้ความสนใจในหุ้นกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งล่าสุดราคาหุ้นในกลุ่มนี้ก็ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง 10-20% ภายในเวลาไม่นานนัก สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าลงทุนใหม่ในกลุ่ม ก็ต้องยอมรับเสียก่อนว่าราคา ณ ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์แพง หากยังคงต้องการลงทุนก็อาจจะต้องเลือกเป็นบางบริษัทที่อาจจะยังพอถูไถ เช่น ราช กรุ๊ป ซึ่งมี P/E ต่ำกว่าอีกหลายๆ ตัว และยังน่าจะให้เงินปันผลในระดับ 3%”

"นพเดช กรรณสูต" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บีกริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไปเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 3,200 เมกะวัตต์ ในส่วนอีกเกือบ 1,800 เมกะวัตต์ ในระยะสั้นจะมาจากการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดยจะเน้นไปที่พลังงานทดแทนเป็นหลัก อาทิ พลังงานลม และแสงอาทิตย์

“ในระยะนี้บริษัทคงต้องเน้นไปที่การซื้อกิจการเป็นหลัก โดยเฉพาะกิจการในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันโครงการในประเทศก็ชะลอลงไป ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะต้องไม่ต่ำกว่า 12%”

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 100,000 ล้านบาท สำหรับการเพิ่มกำลังกาผลิตให้ครบ 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเงินทุนจะมาทั้งจากเงินกู้และกระแสเงินสด โดยบริษัทจะรักษาอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า จากปัจจุบันที่ 1.6 เท่า

ขณะเดียวกัน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มกำไรปกติของกลุ่มในครึ่งปีหลังจะยังเติบโตได้ทั้งจากปีก่อน และเติบโตจากไตรมาสแรก จากกำลังการผลิตที่ทยอยดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น อาทิ GPSC, CKP, BGRIM, SSP และ GULF 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวขึ้นมาดีกว่าตลาดค่อนข้างมาก และมองว่าสะท้อนโอกาสใหม่ๆ ไปแล้ว ทำให้ความเสี่ยงต่อผลตอบแทนในการเข้าลงทุนเริ่มหมดความน่าสนใจ จึงปรับน้ำหนักการลงทุนลงมาเป็น “เท่ากับตลาด” และไม่มีหุ้นแนะนำในกลุ่มนี้ แต่ก็ยังไม่มีหุ้นที่แนะนำ “ขาย” แม้บางตัวราคาเกินเป้าหมายไปแล้ว แต่เนื่องจากยังอยู่ในกรอบยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ประกอบกับภาวะตลาดผันผวนจะทำให้หุ้นโรงไฟฟ้าซึ่งเป็น defensive stock จะไม่ถูกกดดันนักเทียบกับตลาด