ศาลปกครองนัดไต่สวน 'ซีพี-ทร.' ปมชิงอู่ตะเภา 31 ต.ค.

ศาลปกครองนัดไต่สวน 'ซีพี-ทร.' ปมชิงอู่ตะเภา 31 ต.ค.

ศาลปกครองสูงสุด ทุเลาคำสั่งกองทัพเรือ ให้เปิดซอง“ซีพี”ประมูลอู่ตะเภา นัดไต่สวนคู่ความ 31 ต.ค.ก่อนอ่านคำพิพากษา 7 พ.ย.

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่ง วานนี้ (18 ต.ค.) ให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอซอง 2 (ด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) กล่องที่ 6 และซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา) กล่องที่ 9 ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาเอกสารตามขั้นตอนการประมูล

ศาลระบุว่า หากไม่พิจารณาถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิของกลุ่มแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การเยียวยาภายหลัง เพราะกลุ่มซีพีไม่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับรัฐอย่างสิ้นเชิง 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาการก่อสร้างต้องมีระยะเวลาพอสมควร ไม่อาจเสร็จในระยะเวลาอันใกล้ การให้กระบวนการคัดเลือกคู่สัญญาของรัฐทำได้โดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการเข้าร่วมแข่งขันที่เป็นธรรม หาได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะแต่อย่างใด 

จึงสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไว้ก่อน โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาเอกสารของกลุ่มซีพีให้เป็นไปตามขั้นตอน

ศาลนัดคู่ความชี้แจง31ต.ค.

นายคณิศ แสงสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.และกองทัพเรือรับทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยหลังจากนี้จะต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลที่ให้เปิดซองเอกสารซองของกลุ่มซีพี ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคเหมือนกับข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่ม Grand Consortium โดยถ้าข้อเสนอของกลุ่มซีพีผ่านเกณฑ์การพิจารณาซอง 2 ก็จะเข้าสู่การพิจารณาซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา)

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้คู่ความให้ข้อมูลในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ซึ่งภาครัฐพร้อมที่จะชี้แจง และศาลมีกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ซึ่งจะได้ข้อสรุปว่ากลุ่มซีพีจะอยู่ในกระบวนการประมูลจนจบขั้นตอนหรือไม่

“การประมูลคงไม่ล่าช้าไปมาก เพราะศาลปกครองสูงสุดกำหนดวันอ่านคำพิพากษามาแล้ว” นายคณิศ กล่าว

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้สรุปผลข้อเสนอซอง 2 (ด้านเทคนิค) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้ผ่านการพิจารณา 2 ราย คือ 

1.กิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ,บมจ.การบินกรุงเทพ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น

2.กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วยบมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ,บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น

หลังจากนั้นได้พิจารณาซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกิจการร่วมค้าบีบีเอสยื่นข้อเสนอผลตอบแทนรัฐหลักแสนล้านบาท ส่วนกลุ่ม Grand Consortium ยื่นหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้กลุ่มบีบีเอสมีโอกาสชนะการประมูล

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยกองทัพเรือลงทุน 17,768 ล้านบาท และเอกชนร่วมลงทุน 2.72 แสนล้านบาท มีสัญญา 50 ปี