'คมนาคม' ชี้ 12 ข้อมูลใหม่ต่อรอง 'โฮปเวลล์'

'คมนาคม' ชี้ 12 ข้อมูลใหม่ต่อรอง 'โฮปเวลล์'

"คมนาคม" พบหลักฐาน 12 ประเด็นใหม่ ต่อรอง “โฮปเวลล์” เข้าข่ายทุจริตทำสัญญาเป็นโมฆะ คาดสัปดาห์หน้าเริ่มเจรจาร่วมกัน

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เข้ามาช่วยพิจารณาคดีระหว่าง ร.ฟ.ท.กระทรวงคมนาคม และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นตรวจสอบข้อมูลพบว่า การเข้ารับสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ มีประเด็นที่อาจจะทุจริตรวม 12 ประเด็นหลัก ทำให้การทำสัญญาในโครงการดังกล่าว เข้าข่ายเป็นสัญญาโมฆะ

สำหรับประเด็นที่เข้าข่ายทุจริต อาทิ 1.การตรวจสอบพบว่าการทำสัญญาลงทุนโครงการนี้ ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากก่อนหน้าของการเจรจาทำสัญญา ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม จะต้องทำสัญญา กับบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ตามมติ ครม.ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2532 ให้เอกชนรายดังกล่าวเป็นคู่ทำสัญญาสัมปทาน แต่เมื่อการลงนามสัญญาเกิดขึ้น กลับเป็นการลงนามฝั่งเอกชน ภายใต้ชื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการทำสัญญาที่ไม่ได้มีมติเห็นชอบจาก ครม.

2.การจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดต่อกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และขัดต่อระเบียบสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เพราะการทำธุรกิจของคนต่างด้าวในขณะนั้น จะต้องได้รับการเห็นชอบออกเป็นพระราชฤษฎีกา แต่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ได้มีการออกพระราชฤษฎีกา ทำให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ขาดคุณสมบัติที่เข้าทำสัญญาสัมปทาน

“โฮปเวลล์”ยื่นขอเจรจา

นายนิติธร กล่าวว่า วานนี้ (18 ต.ค.) จึงไปยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต่อศาลปกครองกลาง กรณีรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดต่อกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 แต่ระหว่างการยื่นคำร้อง ได้รับข้อมูลจากทางคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าบริษัทโฮปเวลล์ ติดต่อมาขอเจรจากับกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. เพื่อหาทางออกร่วมกันใหม่

โดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จะไม่ยื่นคัดค้าน หากกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลฯ ขยายเวลาการบังคับตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จนกว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติ ดังนั้น วานนี้ (18 ต.ค.) จึงต้องยุติการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อรอฟังผลการเจรจาระหว่างบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กับกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ก่อน

“เราพบประเด็นการทุจริตถึง 12 ประเด็น การมายื่นศาลปกครองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเราต้องการชี้ให้เห็นว่าบริษัทมีการจดทะเบียนขัดต่อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน และสถานะของบริษัทก็จะเปลี่ยนไป เมื่อสถานะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนไม่ถูกต้องด้วยกฎหมาย แน่นอนว่าสัญญาสัมปทานที่ทำไว้ก็จะเป็นโมฆะ ส่วนข้อมูลด้านอื่นๆ เราก็ดูข้อมูลว่า ถ้าพบทุจริตก็จะต้องไปยื่นที่ศาลอาญาอีก ส่วนการยื่นขอคุ้มครองฉุกเฉิน ก็คงจะไม่ต้องดำเนินการแล้ว เพราะกำลังเข้าสู่ขั้นตอนเจรจา”

ชี้เป็นสัญญาณยุติคดี

นายนิติธร กล่าวว่า เมื่อมีการติดต่อขอเจรจาจากทางบริษัทโฮปเวลล์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการยุติคดี เพราะทั้งสองฝ่ายมีโอกาสที่จะเจรจาในรายละเอียดจ้อตกลงกันได้อีก เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์หน้า แนวทางการทำคดีจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ ก็คงจะต้องรอรับฟังข้อมูลการเจรจาระหว่าง ร.ฟ.ท. กระทรวงคมนาคม และโฮปเวลล์ให้ได้ข้อสรุปก่อน

สำหรับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในส่วนของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์) 3 ตอน (กรุงเทพ- บางซื่อ ยมราช –มักกะสัน มักกะสัน-แม่น้ำ) ก่อนหน้านี้มีการตัดสินให้ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม ต้องชดใช้ชำระเงินให้แก่ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนทั้งสิ้น 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % ต่อปี ภายใน 180 วัน นับจากคดีสิ้นสุด ซึ่งจะครบกำหนดจ่ายในวันนี้ (19 ต.ค.)

“คมนาคม”มั่นใจข้อมูล

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม สั่งการให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่เพราะถ้าไม่ดำเนินการอะไรเลยก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับโฮปเวลล์ รวมทั้งมีความมั่นใจในข้อมูลใหม่ที่ตรวจพบ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่ไม่สามารถดำเนินโครงการนี้ได้

"กระทรวงคมนาคมกังวลว่าหากมีการชำระเงินตามกำหนดของคำสั่งศาล และต่อมาเมื่อมีการต่อสู้คดีแล้วภาครัฐชนะจะไม่สามารถเรียกเงินคืนจากบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ ซึ่งทำให้ช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมหาทางต่อสู้คดีทุกช่องทางทั้งการเตรียมยื่นศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวการชำระเงิน " แหล่งข่าวกล่าว