แบงก์แห่ตั้งสำรองฯ กดกำไรโตแผ่ว

แบงก์แห่ตั้งสำรองฯ กดกำไรโตแผ่ว

"แบงก์พาณิชย์" 8 แห่ง ทำกำไรไตรมาส 3 กว่า 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านสำรองยังพุ่งกว่า 15% หลังแบงก์เพิ่มสำรอง เน้นบริหารความเสี่ยง หวังรองรับเศรษฐกิจผันผวนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จากการรวบรวมผลการดำเนินของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2562  จำนวน  8 แห่ง พบมีกำไรสุทธิรวม 40,892  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.04 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบงก์ที่มีกำไรมากที่สุดคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรเติบโต 40% จากการบันทึกรายได้จากการขยายธุรกิจประกันภัย

ขณะเดียวกัน หากดูภาระการตั้งสำรองในไตรมาส 3 ของทั้ง 8 แบงก์ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเกือบ 15% หรือ 3.2 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับช่วงไตรมาส 3 ปีก่อนที่มีภาระการตั้งสำรองเพียง 2.8 หมื่นล้านบาท โดยแบงก์ที่มีการตั้งสำรองมากที่สุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งสำรองถึง 1.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อนเกือบ 200% รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ สำรอง 9.4 พันล้านบาท เติบโตเกือบ 1% และธนาคารกรุงศรี ตั้งสำรอง 6.5 พันล้านบาท เติบโต 10%

ด้านรายได้ดอกเบี้ยยังเติบโตได้ดี แม้ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ไปเมื่อต้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยรายได้ดอกเบี้ยรวมยังเติบโต 2.67%

สำหรับแนวโน้มหนี้ด้อยคุณภาพ ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 5% มาอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.5 แสนล้านบาท

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กำไรสุทธิไตรมาส 3 อยู่ที่ 14,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.8%จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำนวน 11,644 ล้านบาท ส่าวนภาพรวมสินเชื่อยังเติบโตปานกลาง 2.2% สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ขยายตัว 7.4% จากกลยุทธ์ของธนาคารที่เน้นบริหารความเสี่ยง และการปรับพอร์ตไปสู่สินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนหนี้ด้อยคุณภาพปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.01% จาก2.77% จากไตรมาสก่อนหน้านี้ จากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

“ธนาคารเล็งเห็นความจำเป็น ที่จะต้องเตรียมความแข็งแกร่งเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ จากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ทำให้ธนาคารได้เพิ่มระดับการตั้งสำรองหนี้ด้อยคณภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำนวน 9.1พันล้านบาท เป็นการตั้งสำรองที่ตั้งเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจผันผวน”

157149211538

ด้านธนาคารกรุงเทพ รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3 อยู่ที่ 9,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 9.6% เป็นผลจากการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม ตามเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย 1.7% ตามการลดลงของสินเชื่อ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35%

สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.6% ขณะที่เงินสำรองของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 183.4% ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งบริหารคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมรักษาเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ด้านธนาคารกรุงศรี 9 เดือนแรก มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.7% จากปี 2561 จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่แข็งแกร่งที่ 6.4% ส่วนการเติบโตสินเชื่อยังขยายตัวได้ดี 6.4%

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2562 จำนวน 4,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 14.51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นกำไรที่สูงทำสถิตินิวไฮ ส่วนกำไรงวด 9 เดือน ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.40% จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้โต  และค่าใช้จ่ายหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญลดลง แม้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธนาคารได้หมดไปตั้งแต่เดือนพ.ค.2561 แต่ผลการดำเนินงานก่อนภาษีของธนาคารและบริษัทย่อยยังโตได้สูงถึง 11.40%"

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์. ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นไปตามคาดทำให้ไม่ต้องปรับประมาณการผลการดำเนินงานปีนี้ และเชื่อว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 จะเติบโตต่อเนื่องสาเหตุหลักมาจากธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มอีก เพราะ ที่ผ่านมาตั้งสำรองไปแล้วจำนวนมาก จากรา่คาหุ้นกลุ่มแบงก์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผลการดำเนินงานมีทิศทางเติบโตดีขึ้น จึงแนะนำซื้อลงทุนระยะยาว ในหุ้นที่มีการตั้งสำรองไว้สูงๆ จ่ายเงินปันผลสูงโดยแนะนำซื้อBBL และ TISCO