สวนยางสะเทือนหลังยักษ์รับซื้อจีนปิดกิจการ

สวนยางสะเทือนหลังยักษ์รับซื้อจีนปิดกิจการ

กยท. เร่งใช้มาตรการแก้ปัญหาราคายางผันผวน หลังบริษัทจีนเลิกกิจการ เดินหน้าโครงการประกันรายได้ ควบคู่กับมาตรการระยะยาว ขยายเวลาดำเนินการ 4 โครงการ

         นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคายางในช่วงนี้ผันผวน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนภายนอกประเทศ ได้แก่ การที่ธนาคารระมัดระวังการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทยาง เนื่องจากกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งขายยางในราคาไม่สูงมากเพื่อให้ได้สัญญาไปประกอบการกู้เงินสำหรับใช้หมุนเวียนในธุรกิจยาง

          ประกอบกับเทศกาลวันชาติของประเทศจีน ระหว่างวันที่ 28ก.ย.- 7 ต.ค. ทำให้กิจกรรมการซื้อขายยางหยุดลง ส่งผลต่อราคายางอ้างอิงจะมีเพียงตลาด TOCOM และ SICOM เท่านั้น ซึ่งพ่อค้ายางรอราคาอ้างอิงจากตลาดล่วงหน้าของจีน (ตลาดเซี่ยงไฮ้) ในการซื้อขาย

           นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในการซื้อขายยาง Chongqing บริษัทเทรดดิ้งใหญ่อันดับหนึ่งของจีนซึ่งนำเข้ายางประมาณปีละ 1.5ล้านตัน ประกาศหยุดกิจกรรมการซื้อขายยางเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา และการเลิกกิจการของบริษัท Chongqing ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ของจีน จึงส่งผลต่อผู้ส่งออกยางของไทย ทำให้ราคายางปรับในทิศทางที่ลดลง อย่างไรก็ตามหลังจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าของจีน (เซี่ยงไฮ้) กลับมาซื้อขาย ราคายางจะขยับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้

157140837813

         สำหรับการแก้ปัญหาราคายางผันผวนที่เกิดขึ้น เริ่มจากแนวทางระยะสั้น โดยการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 กำหนดให้มีการประกันรายได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 2562 เบื้องต้นมีเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1,711,252 ราย แยกเป็นเจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,412,017 ราย และคนกรีดยาง 299,235 ราย พื้นที่ 17,201,391 ไร่ โดยต้องเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่

          ให้มีการประกันรายได้ รายละไม่เกิน 25 ไร่ ที่ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ต.ค. 2562 – มี.ค. 2563) ซึ่งเงินประกันรายได้ในแต่ละเดือน จะถูกแบ่งระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางในสัดส่วน 60 : 40 ราคายางที่ใช้ประกันรายได้ กำหนดจากราคาต้นทุนการผลิตยางแต่ละชนิด

           โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2561 และเพิ่มรายได้เป็นค่าครองชีพอีก 7.39% แบ่งตามประเภทยาง ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม ราคากลางทางคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิง จะประกาศทุก 2 เดือน และจะจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง ผ่าน ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง ซึ่งจะเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับสิทธิ์ รอบแรก ในวันที่ 1-15 พ.ย.นี้

            ในส่วนของมาตรการเพื่อยกระดับราคายาง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อนำไปสู่การดูดซับยางออกจากระบบ เกิดการขยายกำลังการผลิต การแปรรูปยาง ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ให้เกิดความผันผวน ผ่านการดำเนินงาน จำนวน 4 โครงการ ซึ่งขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการ และขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมบางโครงการ ได้แก่

             โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิม หรือที่ตั้งใหม่ ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ มุ่งเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม ฯลฯ ให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยที่รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการ 3% ตลอดระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559 – 2569 ซึ่งประชุมกนย. เห็นชอบปรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาท จะทำให้มีปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิม 60,000 ตัน/ปี เป็น 100,000 ตัน/ปี

             โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 – ธ.ค. 2564 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการรวบรวมยางจากเกษตรกร ขยายเวลาเพิ่มอีก 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 - 31 มี.ค. 2567 ระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 - 31 ธ.ค. 2566 และกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เป็นคราว ๆ คราวละไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่กู้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2567และ โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ที่ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการต่อไปจนถึงเดือนก.ย. 2565 เพื่อผลักดันการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์หรือที่ใช้เป็นส่วนผสมต่างๆ ใช้ในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออก ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายาง