'ซีพี' เฮ! ศาลสั่งรับซองประมูลอู่ตะเภา

'ซีพี' เฮ! ศาลสั่งรับซองประมูลอู่ตะเภา

ศาลปกครองสูงสุดสั่งกองทัพเรือรับพิจารณาซองข้อเสนอประมูลพัฒนาอู่ตะเภาของกลุ่ม "ซีพี” ชี้กำหนดหลักเกณฑ์รับเอกสารไม่ชัดตั้งแต่ต้น-ข้อบกพร่องเอกสารผ่านจุดลงทะเบียนช้าไม่ใช่สาระสำคัญ ที่จะปฏิเสธไม่รับซอง

วันนี้ (18 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้อง) ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (ผู้ฟ้อง) ที่นำโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และพันธมิตร เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไป

ศาลให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงพฤติการณ์ของการยื่นข้อเสนอในคดีนี้เห็นว่าการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอในคดีนี้ เป็นการยื่นข้อเสนอในโครงการขนาดใหญ่ เป็นที่คาดหมายตรงกันว่ามีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก การจะกำหนดให้มีการรับเอกสารเมื่อใดโดยวิธีการใด ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ต้องกำหนดเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการตรวจรับเอกสาร เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับทราบเป็นการล่วงหน้า

แต่จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกระบวนการรับ ตรวจปริมาณของเอกสารอย่างชัดเจน แต่มีกระบวนการให้ผู้ยื่นข้อเสนอ แสดงตนว่าประสงค์จะเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอด้วยการให้ลงทะเบียนก่อน จากนั้นจึงมีกระบวนการรับและตรวจเอกสารในลำดับถัดไป โดยการเรียกให้ผู้ยื่นข้อเสนอเข้าสู่กระบวนการรับและตรวจเอกสารทีละราย

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้เริ่มมีการตรวจเอการของกลุ่มกิจการร่วมค้า บีบีเอส เวลา 15.00 น. เป็นรายแรก จากนั้นจึงดำเนินการรับละตรวจเอกสารของกลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง ตามลำดับ ซึ่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เช่นนี้ไม่ได้ความว่าได้มีการขยายระยะเวลา ซึ่งต้องกระทำเป็นลายลักษณ์ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน ข้อ 31 (3) แต่มีความหมายที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ ไม่ได้ยึดถือการขน หรือลำเลียง เอกสารใดให้ต้องผ่านจุดลงทะเบียนภายในเวลา 15.00 น. เพราะโดยสภาพผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายจะต้องลำเลียงเอกสารมาเป็นระยะ ๆ ในระหว่างนั้น

นอกจากนี้ การที่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นนี้ว่าการเข้ายื่นเอกสารของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯได้ทำการตรวจสอบและรับเอกสารจนครบถ้วนเรียบร้อยในวันนั้นแล้ว โดยมีการออกเอการแบบฟอร์มตรวจสอบการจัดเก็บข้อเสนอโครงการ ให้แก่กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง ว่าได้ลงทะเบียนก่อน 15.00 น. และไม่ปรากฏว่ามีการทักท้วง หรือท้วงติงเกี่ยวกับเอกสารของกลุ่มในวันดังกล่าวแต่อย่างใด

ส่วนการอ้างถึงรายงานของคณะทำงานรับ และจัดเก็บเอกสารข้อเสนอ ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการทำรายงานขึ้นในขณะนั้น เป็นเพียงการอ้างในภายหลัง เช่นเดียวกับการอ้างถึงภาพถ่ายนิ่งที่ใช้อ้างว่ามีการลำเลียงเอกสารกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ผ่านจุดลงทะเบียนหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการทหารเรือ ในเวลา 15.09 น. ก็เป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่ได้รับมาภายหลังวันปิดรับซองเอกสารแล้ว

อีกทั้งเมื่อพิจารณาว่าเอกสารกล่องที่ 6 ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ ซึ่งมีเอกสารฉบับจริงทั้งหมดจำนวน 4 กล่อง และเอกสารกล่องที่ 9 ข้อเสนอซองที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคา มีเอกสารจำนวน 1 กล่อง ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ส่วน ไม่ใช่เอกสารที่กำหนดให้ต้องมีการเปิดซองของเอกสาร ณ ขณะนั้นด้วยแต่อย่างใด

หลังจากที่มีการตรวจรับเอกสารดังกล่าวแล้วจะนำไปเก็บรักษาในความครอบครองของคณะกรรมกาคัดเลือกที่ห้องนาวีคลับ ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือล่วงรู้รายละเอียดข้อมูลของเอกสาร ของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้ ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการนำเอกสารกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จุดลงทะเบียนหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการทหารเรือ ในเวลา 15.09 น. จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการคัดเลือกฯจะใช้พิจารณาว่ามีข้อบกพร่องในการยื่นข้อเสนอที่เป็นสาระสำคัญ ดังนั้นการที่คณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาใช้ดุลยพินิจปฏิเสธไม่รับซองที่ 2 กล่องที่ 6 และซองที่ 3 กล่องที่ 9 ทั้งตัวจริงและสำเนา จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

หากศาลไม่พิจารณาถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิของกลุ่มแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ยากแก่การเยียวยาได้ในภายหลัง เพราะกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง ย่อมไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกให้เป็นคู่สัญญากับรัฐอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงการดำเนินการก่อสร้างของโครงการนี้ต้องมีระยะเวลาพอสมควร ไม่อาจเสร็จได้ในระยะเวลาอันใกล้

การให้กระบวนการคัดเลือกคู่สัญญาของรัฐสามารถทำได้โดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการเข้าร่วมแข่งขันที่เป็นธรรม หาได้เป็นอุปสรรค์ต่อการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะแต่อย่างใด จึงสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะให้มีการทุเลาการังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯดังกล่าวไว้ก่อน โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับพิจารณาเอกสารดังกล่าว ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง ให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไป