พิชิตพอร์ต 'เจ็ดหลัก' สไตล์ 'วศิน ดำรงสกุลวงษ์'

พิชิตพอร์ต 'เจ็ดหลัก' สไตล์ 'วศิน ดำรงสกุลวงษ์'

โลดแล่นในวงการลงทุนเพียง 4 ปี แต่ 'วศิน ดำรงสกุลวงษ์' กลับสร้างรีเทิร์น 'เท่าตัว' ได้ไม่ยาก ! ส่วนฐานะทายาทรุ่น 2 ของ 'องอาจ' เจ้าของ 'อินเตอร์ไฮด์' ทำผลงานชิ้นโบว์แดงเช่นกัน หลัง 'แตกไลน์' สู่ธุรกิจฟอกหนังรองเท้า ผลักดัน 3-5 ปี ยอดขายเทียบรถยนต์ !

มุมหนึ่งของ 'วศิน ดำรงสกุลวงษ์' ดีกรีปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโท สาขาบริหารการเงินและการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะลูกชายคนกลาง ในจำนวนพี่น้อง 3 คน พี่สาวคนโต 'วรรณวิสา ดำรงสกุลวงษ์' และน้องชายคนเล็ก 'วริทธิ์ ดำรงสกุลวงษ์' ของ 'องอาจ ดำรงสกุลวงษ์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อินเตอร์ไฮด์ หรือ IHL ประกอบธุรกิจฟอกหนังสำหรับทำเบาะรถยนต์

ขณะที่อีกฟากหนึ่ง 'ชายหนุ่ม' ยังสวมบทบาท 'นักลงทุน!' โดยมี 'คุณพ่อ' (องอาจ ดำรงสกุลวงษ์) เป็นเหมือนต้นแบบในการลงทุนมาตั้งแต่วัยเรียน เพราะเห็นการลงทุนและเป็นคนช่วยดูแลพอร์ตของคุณพ่อมาตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา ประกอบกับตนเองเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ก็ต้องรู้จักกับตลาดเงินตลาดทุนด้วย 

ทว่า หลังตัดสินใจเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวเมื่อราว 5 ปีก่อน ตามกฎของครอบครัวลูกๆ ทุกคนจะถือ 'หุ้น IHL' ทุกคน โดยผมถือหุ้นจำนวน 4.87% (ตัวเลข ณ วันที่ 29 ส.ค.2562) นอกจากเงินเดือนประจำและโบนัสที่จะได้ตาม “ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน หรือ KPI” ฉะนั้น สิ่งที่คุณพ่อบอกลูกๆ เสมอคือ 'อยากได้เงินปันผลก็ต้องสร้างการเติบโต IHL เยอะๆ' เพื่อที่บริษัทจะมีกำไรและจ่ายเงินปันผลได้จำนวนมาก   

เมื่อทายาท บมจ.อินเตอร์ไฮด์ มีความเชื่อว่า ตลาดหุ้นเป็น 'แหล่งลงทุนชั้นดี' เมื่อเทียบกับการนำเงินไปออมกับแบงก์ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และพันธบัตรที่สร้าง 'ผลตอบแทน' (รีเทิร์น) ในอัตราต่ำ ประกอบกับคุณพ่อบอกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเปรียบเหมือนนำเงินไปฝากกับบริษัทอื่นที่ดีๆ หลากหลายๆ บริษัทเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น  

'วศิน ดำรงสกุลวงษ์' กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บมจ.อินเตอร์ไฮด์ หรือ IHL เล่าการลงทุนให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ตัดสินใจควักเงินลงทุนก้อนแรก '1ล้านบาท' เปิดพอร์ตเมื่อตอนอายุ 26 ปี หลังจากได้รับเงินปันผลจากหุ้น IHL ครั้งแรก !! และคุณพ่อให้บริหารจัดการเงินปันผลของตัวเองแล้ว  โดยลงทุนในปีแรกด้วยการกระจายซื้อหุ้นหลากหลายตัว 

หนึ่งในนั้นที่สร้างกำไรเติบโต 'โดดเด่น' สุด ยกให้ หุ้น คอมเซเว่นหรือ COM7 ถือเป็นหุ้นที่สร้างการเติบโตในพอร์ตลงทุนเป็น 'เท่าตัว' สะท้อนผ่านมูลค่าเงินในพอร์ตเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านบาท กลายเป็น '2 ล้านบาท' ภายในระยะเวลาถือหุ้น 9 เดือน โดยซื้อที่ต้นทุน 5-6 บาทต่อหุ้น ก่อนขายไปตอนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป 17 บาทต่อหุ้น

'ที่ได้กำไรหุ้น COM7 เยอะๆ ไม่ใช่ลงทุนในหุ้นเก่ง แต่เป็นช่วงที่ผมทำงานหนักมาก ซื้อหุ้น COM7 ไว้แล้วลืมไปเลย และไม่ได้เปิดดูพอร์ตตัวเองดู มาเปิดอีกครั้งโอ้โห !! นี่ราคาหุ้นวิ่งไปไกลขนาดนี้เลย (หัวเราะ)' 

ทว่าระหว่างทางเกิด 'เจ็บตัว' เหมือนกัน เพราะ หุ้น เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE ดำเนินกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ ธุรกิจไลฟ์สไตล์รีเทลด้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ ภายใต้ชื่อ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ในสหรัฐอเมริกาและไทย และเป็นผู้พัฒนาโครงการมหานคร อสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed use) บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์

เป็นหุ้นที่ 'ขาดทุนหนัก' ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ขายหุ้น ตัวเลขขาดทุนราว '1 ล้านบาท' โดยซื้อหุ้น PACE ต้นทุน 1 บาทต่อหุ้น แต่ตอนนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.07 บาทต่อหุ้น (หุ้นยังติดเครื่องหมาย C) ใคร ? จะคิดว่าหุ้นที่ร่วงลงมาจากราคา 5 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ราคา 1 บาทต่อหุ้น ที่ผมมองว่าต่ำแล้วยังจะร่วงต่ำไปได้อีก ! (ยิ้ม) 

'ตอนที่ราคาหุ้น PACE หลุด 1 บาทต่อหุ้น ผมตั้งใจว่าจะปิดพอร์ตนั้นและจะไม่มองอีกเลย ! ก็ถือว่าหุ้น PACE เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ' หนุ่มวศินย้ำให้ฟัง 

'หนุ่มวศิน' บอกว่า ปัจจุบันหลักการแบ่งเงิน 1 ก้อน มีกฎของตัวเองอยู่ว่า เงินส่วนใหญ่ฝากแบงก์ คิดเป็น 50% เงินสดใช้ในเรื่องส่วนตัว 20% และเหลืออีก 30% เป็นเงินที่ใช้ในการลงทุน อย่าง หุ้น และ ธุรกิจส่วนตัว โดยในส่วนของการลงทุนนั้น จะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก 

สำหรับ 'กลยุทธ์' การลงทุน จะดูช่วงจังหวะเวลาของหุ้นตัวนั้นๆ มากกว่า ยกตัวอย่าง ถ้ามีช่วงเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ ช่วงนั้นก็ต้องซื้อหุ้นที่เกี่ยวกับมือถือดักไว้ก่อน หรือว่ากำลังมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็ต้องซื้อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับหรือได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ขณะที่หากมีหุ้นที่ถืออยู่ในพอร์ตปรับตัวลงมา 'ระดับ 5%' ส่วนตัวก็จะตัดขายทิ้งทันที 

ปัจจุบันมีหุ้นประจำพอร์ตลงทุน '4 ตัว' ยกตัวอย่าง หุ้น โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC เป็นหุ้นโรงไฟฟ้า ซึ่งมองว่าจะมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่ดีมาก มีความหลากหลายในประเภทของธุรกิจไฟฟ้า กระจายความเสี่ยงได้ดี   

หุ้น พริมา มารีน หรือ PRM ตอนนี้ราคาหุ้นฟื้นตัวโดดเด่นมาก สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจาก ผลจากการขยายธุรกิจกองเรือขนส่งน้ำมันในประเทศ โดยการเข้าซื้อบริษัท บิ๊ก ซี จำกัด ในสัดส่วน 70% โดยเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 โดย PRM ให้บริการขนส่งและจัดเก็บสินค้าทางเรือให้กับลูกค้าตามความต้องการอย่างครบวงจร รวมถึงการให้บริการเรือขนส่งและสนับสนุนปฏิบัติการทางทะเล และการบริหารจัดการเรือ

หุ้น ซาบีน่า หรือ SABINA เป็นหุ้นที่เคยได้กำไรไปแล้ว ซึ่งกลับมาซื้อรอบใหม่ มองว่าเป็นหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรมาก และมียอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี จากดำเนินธุรกิจออกแบบ ผลิต และจำหน่ายสินค้าชุดชั้นในสตรีชื่อดัง ภายใต้เครื่องหมายการค้า 'Sabina' 'Sabinie' และ 'SBN' และเป็นผู้ผลิตแลจำหน่ายชุดชั้นในตามคำสั่งของลูกค้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายชุดชั้นในในตลาดต่างประเทศ (OEM)

และ หุ้น เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เป็นหุ้นห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทย ซึ่งมองบริษัทยังสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้ศูนย์การค้ามีอัตราเข้าเช่าอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีการเปิดโครงการใหม่ๆ แบบ Mixed use ช่วยสนับสนุนการเติบโตในอนาคต  

'ปัจจุบันมูลค่าพอร์ตลงทุน 4 ล้านบาท แต่หากรวมหุ้น IHL ด้วย มูลค่าพอร์ตลงทุนแตะหลักสิบล้านบาท'

ท้ายสุด 'วศิน' ทิ้งท้ายการลงทุนไว้ว่า ผมเปรียบการลงทุนในตลาดหุ้นเหมือนการเล่นเกม ผมจะไม่เครียด แต่จะขอผ่านไปให้ได้ในแต่ละด่านให้ดีที่สุด สำหรับตัวช่วยในการลงทุนนั้นจะเป็นโบรกฯ หากมีเวลาผมคุยข้อมูลรายละเอียดหุ้นตัวที่สนใจราว 2 ครั้ง ส่วนตัวมองว่าตลาดหุ้นยังน่าลงทุนหากมีเงินเหลือ 'ซื้อ' ได้ อีก 2 ปี (2562-2563) หุ้นไทยฟื้นตัวแน่นอน !!  

  • 'ฟองหนังรองเท้า' ผลงานโบว์แดง ! 

'วศิน ดำรงสกุลวงษ์' กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บมจ.อินเตอร์ไฮด์ หรือ IHL เล่าให้ฟังว่า คำถามที่จะเจอเสมอๆ ในวัยเด็ก 'วันหยุดมาโรงงานกับพ่อแล้วกันนะ!!' ดังนั้น ตัวเองจะคลุกคลีกับธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่เป็นเด็ก โดยจะตามคุณพ่อไปที่โรงงานเวลาปิดเทมอ ก่อนจะเริ่มทำงานจริงจังเมื่อราว 5 ปีก่อน ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย และล่าสุด ขยับขึ้นมาในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป   

'คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ปิดเทมอก็ต้องมาโรงงาน ดังนั้น พนักงานรุ่นเก่าก็จะเห็นและรู้จักเราดี และรู้ว่าเราทำงานเป็นทุกขั้นตอน ส่วนพนักงานใหม่ๆ ก็จะท้าท้ายบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องพิสูจน์ให้ทุกคนรู้ว่าเรารู้กระบวนการทำงานทุกขั้นตอนนะ ไม่ใช่ทำงานไม่เป็น' 

สำหรับผลงานที่มองว่าเป็น 'ผลงานชิ้นโบว์แดง' คือ 'การแตกไลน์' ออกมาทำ 'ธุรกิจใหม่' (New Business) ตอนนั้นคุณพ่อบอกแค่ว่า 'อยากทำ' และโยนหนังแบบใหม่ที่ทำเสร็จมาให้ และบอกว่าลองไปขายในธุรกิจผลิตรองเท้าหนังดูซิ !! ไปหาลูกค้ามา ตลาดร้องเท้าหนังใหญ่มากนะ 

ทำให้บริษัทมองว่าธุรกิจรองเท้าหนังมี 'โอกาส' และหนังที่ทำขึ้นมาใหม่นำมาพัฒนาและดูดีจึงนำไปเสมอแบรนด์รองเท้า !  ขณะที่ธุรกิจเบาะหนังรถยนต์ยังเป็นธุรกิจหลัก เพราะว่ามีความมั่นคงเพียงแต่ว่ารายได้จะไม่เติบโตหวือหวา 

นี่คือ 'จุดเริ่มต้น' ของธุรกิจฟองหนังรองเท้า และดีลแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ในการตกลงซื้อขายกับแบรนด์ "PATARA" เพื่อให้ IHL ฟอกหนังรองเท้าที่จะนำไปใช้ในการผลิตรองเท้าแบรนด์ 'PATARA' ซึ่งเป็นแบรนด์มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในด้านรองเท้าคุณภาพดีในประเทศสหรัฐ 

โดยเริ่มมี 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) เข้ามาแล้วแต่เป็นในรูปแบบรองเท้าตัวอย่างที่ลูกค้าจะใช้หนังของ IHL ผลิตและส่งออกตัวอย่างไปให้ลูกค้าในแต่ละประเทศทดลองตลาด ซึ่งออเดอร์ที่แท้จริงจะเริ่มเข้ามาแบบจริงจังคือต้นปี 2563 และจะเริ่มรับรู้รายได้ปีหน้าทันที ซึ่งตั้งเป้าเห็น 'ยอดขาย' หนังรองเท้า 3-5 ปีข้างหน้า (2563-2567) 'เท่ากับ' ยอดขายเบาะหนังรถยนต์ หรือ ราว 1,600 ล้านบาท !! คาดว่าปีหน้าจะขายหนังรองเท้าราว 3 ล้านฟุต และปีถัดไปจะขายเดือนละ 2 ล้านฟุต

ณ ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้เบาะหนังรถยนต์และจำหน่ายหนัง 80 :20 คาดว่าในอีก 3-5 ปี สัดส่วนจะเป็น 60 :40 อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้เบาะหนังรถยนต์จะไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้รวมอยู่แล้ว เพราะว่าธุรกิจผลิตเบาะหนังรถยนต์มีความมั่นคง  

'มูลค่าตลาดรองเท้าหนังใหญ่มาก หากเทียบกับตลาดเบาะหนังรถยนต์ที่จะมีวัฎรจักร 4 ปี จะมีการเปลี่ยนรุ่นรถใหม่ครั้ง ขณะที่รองเท้าหนังผู้บริโภคจะมีการซื้อง่ายกว่าปีหนึ่งอาจจะประมาณ 10 คู่ต่อคน และการผลิตรองเท้าหนัง 1 คู่ ใช้วัสดุดิบหนังราว 20 ฟุต ส่วนเบาะหนังรถยนต์ใช้หนังราว 40 ฟุต' 

การเข้าไปในธุรกิจรับฟอกหนังรองเท้า เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี รวมทั้งเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิม คือ ผลิตเบาะหนังรถยนต์ ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 80% ซึ่งธุรกิจใหม่จะใช้วัตถุดิบที่ใกล้เคียงกัน และสามารถนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนสร้างรายได้ และความสามารถในการทำกำไรให้มีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย

'วัตถุดิบที่นำมาผลิตรองเท้าที่ IHL ผลิตให้สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ จึงได้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทำให้ได้รับออเดอร์ในครั้งนี้'

นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศในธุรกิจฟอกหนังรองเท้าเพิ่มเติมอีก 1-2 รายเพื่อผลิตหนังรองเท้า คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในปีนี้ ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนรายได้ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงมากขึ้น

'หนุ่มวศิน' แจกแจง 'ธุรกิจเบาะหนังรถยนต์' ปัจจุบันบริษัททำเบาะหนังรถยนต์มาแทบทุกรุ่นแล้ว ฉะนั้นจะเพิ่มรายได้ก็ต้องผลิตให้กับยีห้อรถยนต์แบรนด์ใหม่ และยังต้องใช้เวลา อย่าง แบรนด์ อีซูซุ (Isuzu) แบรนด์ มิตซูบิชิ  (Mitsubishi) แบรนด์ ฟอร์ด (Ford) แบรนด์ โฟล์ค เป็นต้น ซึ่งตอนนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาในการผลิตเบาะหนังรถยนต์ให้ยี่ห้ออื่นๆ อยู่ โดยปัจจุบันบริษัทผลิตเบาะหนังให้ 3 ยี่ห้อ โตโยต้า , ฮอนด้า และนิสัน  

'ถ้าเราได้ผลิตเบาะหนังรถยนต์ให้ยี่ห้อใหม่ รายได้เราจะเติบโตแบบก้าวกระโดดทันที แต่ถ้าไม่มียี่ห้อใหม่เข้ามารายได้เราก็จะโตเรื่อยๆ ไม่หวือหวาเฉลี่ยโต 5-10% ซึ่งเป้าหมายธุรกิจผลิตเบาะหนังรถยนต์จะเป็นพอร์วตรายได้ระยะยาว' 

อย่างไรก็ตาม IHL ยังอยู่ในธุรกิจผลิตเบาะหนังรถยนต์เพราะว่าเป็นรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งมีการเติบโตแม้ว่าจะไม่ได้หวือหวา แต่ระหว่างทางบริษัทต้องหาธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างการเติบโตสูงขึ้นเข้ามาในพอร์ตด้วย