‘สตรีทอาร์ต’ เพิ่มคุณค่าท่องเที่ยวสิงคโปร์

‘สตรีทอาร์ต’ เพิ่มคุณค่าท่องเที่ยวสิงคโปร์

การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของหลายประเทศ ใครที่มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ก็ถือว่าโชคดีไป แต่ประเทศที่ไม่มีก็ต้องสร้าง สิงคโปร์ถือว่าเป็นเจ้าในเรื่องการสร้างสตอรี่ใหม่ๆ ให้กับประเทศ หนึ่งในนั้นคือการใช้ “สตรีทอาร์ต” เป็นเครื่องมือ

เดิมทีประเทศนี้ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นเมืองธุรกิจการันตีได้ด้วยผลงานติดอันดับโลกจากหลายๆ สถาบัน ล่าสุดครองแชมป์ขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกของ

เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) เบียดสหรัฐแชมป์เก่าตกไปอยู่อันดับ 2 แต่หากมองให้ลึกลงไปสิงคโปร์เต็มไปด้วยผลงานศิลปะ กลั่นกรองจากพลังสร้างสรรค์ผนวกรวมเข้ากับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมอันหลากหลายรอบตัวศิลปิน ผลงานศิลปะเหล่านี้มีอยู่ในทุกที่ ไม่เว้นแม้ซอกเล็กซอยน้อย

ทุกวันนี้ถ้าเดินย่านกัมปงกลัม (Kampong Glam) ไม่ว่าจะเป็นที่ Haji Lane ถนนมัสกัต ถนนวิกตอเรีย Sultan Gate หรือที่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย ไชนาทาวน์ หรือ Bras Basah หรือแม้แต่แฟลตของการเคหะ (เอชดีบี) ผู้มาเยือนจะได้พบกับจิตรกรรมฝาผนัง (Mural Art) ฝีมือศิลปินท้องถิ่นปรากฏอยู่ทั่วไปหมด

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล แซม โล (SKLO) ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวสิงคโปร์ที่สร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ ผลงานของเธอสะท้อนความรู้สึกและความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เล่าว่า ตอนนี้รัฐบาลสนับสนุนศิลปินสิงคโปร์มากขึ้น ให้ได้แสดงผลงานทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งการจัดนิทรรศการศิลปะในสิงคโปร์

“การจัดงานศิลปะเปิดโอกาสให้ศิลปินนำงานมาแสดง โชคดีของคนสิงคโปร์ที่งานแบบนี้มีทั้งปี โดยเฉพาะช่วงต้นปีมีงานศิลปะหลายรายการ เช่น สิงคโปร์อาร์ตวีค ได้เห็นงานศิลปะมากขึ้น”

แซมกล่าวเสริมว่า การสนับสนุนไม่ได้มาจากรัฐบาลอย่างเดียว หน่วยงานอื่นและแบรนด์ก็ร่วมกันสนับสนุนด้วย เพื่อสร้างสตอรี่ให้กับประเทศและวัฒนธรรมสิงคโปร์ สร้างความยูนีคจึงเป็นโอกาสดีให้กับวงการศิลปะ เมื่อมีการลงทุนด้านศิลปะ เหล่าศิลปินก็เติบโตขึ้น มีทุนในการจัดนิทรรศการ สร้างผลงานได้มากขึ้น คนจึงมาทำงานศิลปะมากขึ้นวนกันเป็นวงจร

157135788022

งานของศิลปินรายนี้แตะเรื่องสังคม วัฒนธรรม เพราะเติบโตมาจากแฟลตเอชดีบีได้เห็นความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรม จึงชอบหยิบประเด็นที่เป็นข่าวมาพูด แต่ไม่ได้ทำในเชิงลบ เป็นการติเพื่อก่อมากกว่า

ขณะนี้แซมสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับรักกิจ สถาพรวัจนา ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวไทย ภายใต้แนวคิดเฉลิมฉลองมิตรภาพสองประเทศ ผ่านการอยู่ร่วมกันของคชสารแห่งสยามและสิงโตแห่งสิงคปุระ ผลงานจัดแสดงที่ห้างสรรพสินค้าคลาร์คคีย์เซ็นทรัล ไปจนถึงเดือน มี.ค.2563

ในโอกาสที่ได้มาร่วมงานกัน รักกิจเผยว่า เมื่อก่อนตนไม่เคยคิดว่าสิงคโปร์จะมีกราฟฟิตี้เพราะกฎหมายที่นี่แรงมากห้ามพ่นกำแพง จนกระทั่งแซมพาไปดูร้านเพื่อนเขามีโซนที่พ่นสีทำงานศิลปะได้ ถึงได้ทราบความจริง ครั้นมีโอกาสได้ร่วมงาน Culture Cartel จึงได้รู้จักศิลปินสตรีทอาร์ตอีกหลายคน

สำหรับความช่วยเหลือ ศิลปินไทยกล่าวว่า รัฐบาลไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือเท่าใดนัก งานศิลปะส่วนใหญ่จัดโดยเอกชน หรือแบรนดิ้งสินค้ารวมตัวกันจัดอีเวนท์แล้วใช้งานศิลปะเข้ามาช่วย

157135767558

"อาจเป็นไปได้ว่าประเทศไทยมีปัญหาเยอะ รัฐบาลอาจต้องไปแก้ปัญหาอย่างอื่นก่อน สิงคโปร์อาจจะพัฒนาจุดอื่นบ้านเมืองเจริญเรียบร้อยแล้ว ปัญหาน้อยลงแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลรู้จักนำศิลปะมาใช้งานมากขึ้น ศิลปินไทยก็อาจได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้น"

รักกิจเล่าว่า ศิลปินไทยไม่รู้จักกับรัฐบาลเลย แต่รู้จักกับภาคเอกชน แบรนด์สินค้า แต่การใช้ศิลปะไปร่วมในอีเวนท์มีมากขึ้น เพราะงานศิลปะบูมมากขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยก็รับรู้เรื่องงานศิลปะเท่ากับทั่วโลก แต่วิธีการนำมาใช้ยังแตกต่างกัน

“ทั่วโลกรู้ว่าสตรีทอาร์ตสามารถสร้างจุดท่องเที่ยวได้ สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่แต่ละจุดได้ แต่ไทยยังสนับสนุนน้อยมาก การให้รัฐบาลมาร่วมกับชุมชน สร้างอีเวนท์นำงานศิลปะเข้าไปในพื้นที่หนึ่งๆ ยังมีน้อย มีแต่ภาคเอกชนจัดงานขึ้นมาเอง เพื่อขายสินค้า หรือเพื่ออย่างอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับประเทศชาติ เหมือนต่างคนต่างทำ”

จากประสบการณ์ที่รักกิจได้ไปร่วมงานศิลปะในต่างประเทศบ่อยครั้ง พบว่าแต่ละชุมชนให้ความร่วมมือ ให้กำแพง ให้พื้นที่สำหรับสร้างงาน แต่เมืองไทยถ้าศิลปินไปหาเองมีโอกาสน้อยมากที่จะได้พื้นที่ ถ้าจะให้ลงทุนไปเช่าพื้นที่เองก็ไม่มีทางทำได้อยู่แล้ว ต้องมีสปอนเซอร์หรือแบรนด์สินค้ามาช่วย

กระบวนการเหล่านี้ใช้ต้นทุนสูงพอสมควร ส่วนใหญ่จึงเป็นการร่วมมือกับเอกชน รัฐบาลยังไม่เห็นคุณค่า ยังไม่มาสนับสนุน การพ่นกำแพงถูกเหมารวมกับ Real Street Art ว่าเป็นงานวิจารณ์รัฐบาลไปเสียทั้งหมด

“เขาก็เลยไม่เปิดใจ” รักกิจสรุป

ครั้นมาทำงานที่สิงคโปร์ รักกิจเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลสนับสนุนทุกอย่าง ทั้งหากำแพง หาอุปกรณ์ เครน ทุกอย่างเมื่อมาทำงานกับต่างประเทศจึงรู้สึกสบาย มีคนดูแล

157135772648

“แต่เมืองไทยศิลปินจะไปหาพ่นกำแพงใหญ่ๆ ยากมาก อย่างมากที่ทำได้ก็แค่หากำแพง 1-2 เมตรสร้างงานกันไปด้วยตัวเอง แล้วก็มีคนมาพ่นทับ ซึ่งก็คือวิถีของสตรีทอาร์ต งานไม่อยู่ยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ศิลปินไทยย้ำว่า ถ้ามีการสนับสนุนที่ดีพอ สตรีทอาร์ตจะเป็นจุดที่สร้างอะไรให้ประเทศได้ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำพื้นที่ตรงนั้นให้ “มีอะไร” ไม่ใช่แค่กำแพงร้าง ศิลปินไทยมีคนสร้างงานเก่งๆมากมาย แต่ยังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล