374เสียงโหวตเห็นชอบพ.ร.ก.โอนกำลังพล “ฝ่ายค้าน”ลอยแพ“อนาคตใหม่”

374เสียงโหวตเห็นชอบพ.ร.ก.โอนกำลังพล  “ฝ่ายค้าน”ลอยแพ“อนาคตใหม่”

“สภา” ลงมติ 374 เสียง ไฟเขียว พ.ร.ก.โอนกำลังกองทัพ เป็นส่วนราชการในพระองค์ “ฝ่ายค้าน” ลอยแพ “อนาคตใหม่” โหวตเห็นชอบ ขณะเดียว ส.ส.อนาคตใหม่ เสียงแตก โหวตหนุน 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่เข้าประชุม 5 เสียง “ปิยบุตร” ท้วงผิดเงื่อนไขรธน.มาตรา 172

วานนี้ (18 ต.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

โดยผลการลงมติพ.ร.ก.ดังกล่าว มี ส.ส. ร่วมประชุมทั้งสิ้น 446 คน ลงมติเห็นด้วย 374 คน ไม่เห็นชอบ 70 คน และงดออกเสียง 2 คน สำหรับส.ส.ที่ไม่เห็นชอบเป็น ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

ขณะที่งดออกเสียง 2 คน ประกอบด้วย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ สำหรับการใช้สิทธิ์ของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่นั้น มี 3 คน ที่เห็นด้วยกับพ.ร.ก.ดังกล่าว ประกอบด้วย นายกฤติเดช สันติวชิระกุล ส.ส.แพร่ พรรคอนาคตใหม่, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่

ขณะเดียวกันพบ ส.ส. จำนวน 51 คน ไม่เข้าประชุมในวาระดังกล่าว โดยมี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่รวมอยู่ด้วยจำนวน 5 คน อาทิ นายนิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ผู้นำฝ่ายค้านไม่เข้าประชุม

เช่นเดียวกับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน เลือกไม่เข้าประชุมด้วยเช่นกัน สำหรับฝ่ายรัฐบาลที่ไม่เข้าประชุม อาทิ นายชัย ชิดชอบ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท, นายระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่, นายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน, น.ส. ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ พรรคพลังเมืองไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ต่างออกเสียงเห็นชอบ พ.ร.ก.ดังกล่าว มีพรรคอนาคตใหม่เพียงพรรคเดียวที่ออกเสียงไม่เห็นชอบ

รมช.กลาโหมแจงเหตุผลยิบ

วาระดังกล่าวเสนอโดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ซึ่งชี้แจงหลักการและเหตุผล ตอนหนึ่งว่าเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้คือ โดยที่หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เป็นส่วนราชการในพระองค์ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม กำกับดูแลและปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลอื่นตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย

รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติและการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวจำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกด้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดอัตรากำลังพลที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียบร้อย รวดเร็ว และเกิดความปลอดภัยสูงสุดรวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัยและตามพระราชประเพณีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. นี้

 

ปิยบุตรชี้ขัดม.172-ไม่เร่งด่วน

ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.อนาคตใหม่ กล่าวอภิปรายว่า การตราพ.ร.ก.เป็นข้อยกเว้นที่รธน.ยอมให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมาย หรือออกไปก่อนใช้ไปก่อน เพื่อไม่ให้ออกกฎหมายไปใช้พร่ำเพรื่อ ใช้อำนาจเกินขอบเขต ในมาตรา 172 วรรค 2 กำหนดว่า การตราพ.ร.ก. ให้กระทำได้ ครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีการจำเป็นเร่งด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้สิ่งที่ตนอภิปรายคือความสัมพันธ์ระหว่าง สภาฯ กับ ครม. ตามระบบรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ นี่คือการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

“พ.ร.ก. ลงนามโดย นายกรัฐมนตรี จึงต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการตรา พ.ร.ก. ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีประเด็นปัญหาว่าเป็นพ.ร.ก. เข้าเงื่อนไขมาตรา 172 หรือไม่ อย่างไรก็ตามหมายเหตุของพ.ร.ก.ที่กำลังจะลงมติในวันนี้ จากเหตุผลท้ายพ.ร.ก. เท่ากับว่าครม. อ้างเหตุเรื่องความปลอดภัยของประเทศ และกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่า การถวายความปลอดภัยแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักความปลอดภัยของประเทศ ตรงนี้ไม่น่ามีปัญหา”

ซัดเปิดช่องม.44จำแลง

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า แต่ประเด็นคือ กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตรงนี้เป็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญ คำว่าจำเป็นรีบด่วนคือต้องทำทันทีถ้าไม่ทำจะเกิดผลร้ายแรงตามมา ถ้าหากครม.ยืนยันว่า พ.ร.ก. เป็นเรื่องฉุกเฉินฯ ครม จำเป็นต้องแสดงข้อเท็จจริง ณ วันที่ออกพ.ร.ก. มีเรื่องอะไรที่กระทบต่อการอารักขา การถวายพระเกียรติ และการรักความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ มีเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องฉุกเฉิน เหตุใดถึงต้องตราพ.ร.ก. แต่ ท่านไม่ชี้แจงอะไรเลย

“การใช้อำนาจของครม. ต้องระมัดระวังรอบคอบกว่าเดิม ตนเห็นว่าม.172 เป็นข้อยกเว้นให้อำนาจ จึงต้องทำตามข้อจำกัดอย่างเคร่งครัด แต่พล.อ.ประยุทธ์จะคิดว่าเป็นการใช้ ม.44 ไม่ได้ ถ้าเราไม่ปล่อยผ่านเราจะช่วยให้พล.อ.ประยุทธ์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อำนาจ แต่หากปล่อยเรื่องนี้ไปจะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานผิดๆ นายกฯอยากได้กฎหมายอะไร ขี้เกียจรอสภาฯ ก็ใช้อำนาจตรา พ.ร.ก. นานวันเข้า จะกลายเป็น ม.44 จำแลง” นายปิยบุตร กล่าว

ปชป.ชี้เรื่องจำเป็นฉุกเฉิน

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายสนับสนุน พ.ร.ก. ฉบับนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่ไม่เหมือนประเทศอื่น มีประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน ที่ชาติไทยยืนยาวมาถึงทุกวันนี้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีประเทศไทย ดังนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์คือความมั่นคงของประเทศ อะไรที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เท่ากับกระทบความมั่นคงของประเทศ

"การถวายความปลอดภัยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ไม่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ผมเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นฉุกเฉินรีบด่วน ผมรับรอง” นายพีระพันธุ์กล่าว

ส่วน พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน พรรคเสรีรวมไทยเสนอผ่านให้

วิษณุรับรัฐบาลคิดเสนอกฎหมายเอง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ไม่เห็นชอบพ.ร.ก.ดังกล่าว 70 เสียงว่า ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรผิดปกติ ตนไม่ถือว่าผิดปกติ การมีเสียงไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อในสภาฯมีการลงมติ ก็ต้องมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นจึงไม่เห็นว่าเป็นความแปลกประหลาดอะไร และจะมาเรียกว่าเป็นอะไรเกี่ยวกับในวังคงจะไม่ใช่

“เรื่องนี้เป็น พ.ร.ก.ของรัฐบาล รัฐบาลเป็นคนคิด เป็นคนเสนอ และรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะฉะนั้น ถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ รัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ ต้องลาออกหรือยุบสภา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การอภิปรายที่มีการพูดเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ผู้พูดต้องรับผิดชอบตัวเองใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็รับผิดชอบกันเอง เมื่อถามว่า หลายคนรู้สึกตกใจกับการอภิปรายของนายปิยบุตร นายวิษณุ กล่าวสวนว่า แต่ตนไม่ตกใจ