'ประยุทธ์' โต้ลั่นไม่หากินกับไฟใต้

'ประยุทธ์' โต้ลั่นไม่หากินกับไฟใต้

ชีวิตทหารรู้ว่าข้างหน้าเสี่ยงตายเขาก็ต้องไป! "พล.อ.ประยุทธ์" โต้ลั่นไม่หากินกับไฟใต้

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังถูก ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ พาดพิงเรื่องการซุกงบประมาณ มียุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาไม่รอบด้าน และตั้งข้อสังเกตเรื่องการหาผลประโยชน์จากไฟใต้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฝ่ายคงทราบดีอยู่แล้วว่า ความเคลื่อนไหวในการก่อเหตุรุนแรงลดลง แปรเปลี่ยนไปในทางการเมืองมากขึ้น แม้จะมีการก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่อง แต่สถิติลดลง โดยตั้งแต่ปี 57-62 ถือว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทุกปี สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

ขณะที่ผู้เห็นต่างจากรัฐมีความเคลื่อนไหวเน้นงานการเมืองมากยิ่งขึ้น เพื่อหวังผลสร้างความสนใจจากประชาคมโลก ให้ร่วมกดดันรัฐบาลไทย เพราะปัจจุบัน ประเด็นทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สากลจะเป็นไปได้มากกว่าการเคลื่อนไหวที่ใช้กำลังก่อเหตุรุนแรง เนื่องจากแนวทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่นานาประเทศให้การยอมรับ

ฉะนั้นภาครัฐก็มีแนวทางพัฒนาการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งชึ้น มีการปรับระบบภาครัฐ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ครอบคลุมทั้งงานความมั่นคงและงานพัฒนา หมายถึงทุกกระทรวงทบวงกรมจะมีงบประมาณในส่วนนี้อยู่ด้วย ไม่ใช่มีงบแต่ฝ่ายทหารฝ่ายเดียว ไม่เหมือนอย่างที่สมาชิกบางคนกล่าวว่า "การทหารนำการเมือง" เพราะการบริหารราชการโดยหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น อยู่ภายใต้การอำนวยการ แต่งบอยู่ในกระทรวงต่างๆ ทั้งหมด ส่วนงานความมั่นคงใช้ในส่วนของทหาร จำพวกเบี้ยเลี้ยงกำลังพลเท่านั้น

ส่วนปัญหาภัยแทรกซ้อนด้านสังคมและเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบสำคัญ โดย "ภัยแทรกซ้อน" เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายพูดคุยหารือกับหน่วยงานในพื้นที่ ปรากฏว่าประชาชน นักวิชาการ แสดงความกังวล โดยเฉพาะยาเสพติด ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ มีการแพร่ระบาดในชุมชน หมู่บ้าน ฝ่ายตรงข้ามก็นำมาโจมตีภาครัฐว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมไปึงปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาแสวงประโยชน์ บิดเบือนข้อเท็จริง สร้างความเกลียดชังในสื่อสังคมออนไลน์

ผลจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ขยายแนวร่วม สร้างความเกลียดชัง นำความขัดแย้งทางศาสนาและวัฒนธรรมมายุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกและหวาดระแวงมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนพุทธและมุสลิมในพื้นที่ รวมถึงสังคมนอกพื้นที่

 

ปัจุบันการแก้ไขปัญหามีเอกภาพ มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.กำหนดแผนบูรณาการเอาไว้ ตั้งแต่เรื่องยุติความรุนแรง ขจัดเงื่อนไขปัญหาตั้งแต่รากสาเหตุ ลดปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อกูลให้สถานการณ์ดำรงอยู่ มีการจัดทำแผนโดยยึดหลักวิชาการและกฎหมายอย่างรอบด้าน มีการทบทวนวรรณกรรม ค้นหาจุดมุ่งเน้นที่สำคัญของปัญหา และพิจารณาแต่ละสาเหตุของปัญหา เรื่องเหล่านี้ทำทุกวัน ค้นหา "เซ็นเตอร์ ออฟ กราวิตี้" (จุดศูนย์ดุล) ของแต่ละเรือง แล้วนำมาวิเคราะห์ มุ่งสู่การกำหนดแผนบูรณการป้องกันและแก้ปัญหา มุ่งสู่จุดศูนย์ดุลของปัญหา ป้องกันปัญหาใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น พร้อมเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

แผนงานบูรณาการฯ จึงจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับปัญหาหลัก คือ กลุ่มขบวนการผู้ก่อเหตุในพื้นที่มีโครงสร้างองค์กรเคลื่อนไหวอย่างเสรีทั้งในและต่างประเทศ คำว่า "เสรี" ในประเทศ คือเล็ดลอดหลบหนีการจับกุมและการดำเนินคดีได้ ไม่เปิดเผยตัวตน ไม่ตั้งฐาน หรือยึดพื้นที่ เพราะยึดตรงไหนก็เข้าตีเมื่อนั้น แต่อยู่อาศัยปะปนกับประชาชนทั่วไป

แนวทางของกลุ่มขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง คือการแบ่งแยกดินแดน เรียกร้องประกาศเอกราชให้หลุดพ้นจากรัฐไทย คือหลักการของผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่แล้ว และยังยืนยันหลักการตรงนี้อยู่ ก็ต้องหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม

"การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามี 8 ประการ คือ 1.การเคลื่อนไหวของกลุ่มสภาองค์กรนำ ท่านทราบหรือไม่ว่ามีใครเป็นสภาองค์กรนำ ท่านไม่ทราบ แต่ผมทราบ 2.บ่มเพาะจัดตั้งมวลชน 3.การจัดตั้งหมู่บ้าน 4.การใช้ความรุนแรง 5.การสร้างแนวร่วม 6.ปฏิบัติการเชิงข่าวสาร 7.แสวงหาเงินทุนหล่อเลี้ยงขบวนการ และ 8.ขับเคลื่อนทางการเมือง กลุ่มขบวนการเดินทุกอัน เราก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการยุติความรุนแรง ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหมดไป ทั้งทางกฎหมายและปฏิบัติการทางทหาร เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างสันติสุข ร่วมมือกับนานาชาติอย่างแน่นแฟ้น พูดคุยกันอยางฉันท์มิตรในทุกระดับที่บรรลุผล ขจัดความหวาดระแวง ลดความเสี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อเรียกร้องต่างๆ จะต้องหมดไป แนวคิดความรุนแรง บิดเบือน ต้องหมดไป

กรอบแนวคิดทั้งหมดนี้ จะต้องทำในเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แก้ไขกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงให้ได้ ทำลายศักยภาพแกนนำและแนวร่วมทุกระดับ ป้องกันเหตุรุนแรงจากประชาชนกลุ่มเสี่ยง ยุติการบ่มเพาะเยาวชน ฯลฯ

"ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่เรื่องใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว หรือใช้การพัฒนาอย่างเดียว แต่มีหลายมาตรการ หลายกลยุทธ์ มี 3 กลุยุทธ์หลัก 12 กลยุทธ์ย่อย 13 แผนงาน มีการพูดคุยเพื่อสันติสุขคู่ขนานไปด้วย นอกจากนั้นต้องเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ เหมือนที่พวกเราต้องเข้าใจเหมือนที่ผมเข้าใจ ไม่อย่างนั้นก็ขัดแย้งไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาไม่ได้"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง รับผิดชอบโดยกระทรวงยุติธรรม โดยเยียวยาทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมถึงผู้ก่อเหตุรุนแรงที่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ต้องเยียวยาด้วย

"ปัจจัยความสำเร็จมี 8 เรื่อง เช่น การข่าว มีกลไกพัฒนาระบบบบูรณาการ ผมต้องดูแลทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เขาทำงานเต็มที่ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เขาเสียชีวิต ทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชนผู้่บริสุทธิ์ ต้องดูรายละเอียด ผมดูมาตลอดหลายปีมาแล้ว"

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณว่า มี 2 ขา ขาหนึ่งคือขาความมั่นคง มอบหมายให้ กอ.รมน.ไปทำ โดยหน่วยงานความมั่นคงที่ทำงานภาคใต้มี กอ.รมน.เป็นหน่วยบูรณาการ และมีแผนงานการพัฒนาเพื่อให้ฝ่ายความมั่นคงเดินเข้าไปในพื้นที่ได้ มีแผนงานโครงการเข้าไป ไม่ใช่ถือปืนเข้าไป

ส่วนแผนงานพัฒนาใหญ่ๆ อยู่ในขาของงานพัฒนา มี ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นหน่วยบูรณาการของหน่วยงานทุกระทรวงที่มีงบภาคใต้ทั้งหมด และมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.ดูแลภาพรวมทั้งหมด ที่ผ่านมาการลงทุนก็เพิ่มขึ้น ทั้งเกษตร ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ และจะขยายต่อโรงงานหนังสัตว์ อุตสาหกรรมฮาลาล แต่ทิศทางการพัฒนาต้องเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกภาค ไม่ใช่แก้ภาคใต้เฉพาะที่ภาคใต้


 

"จากแนวโน้มความสูญเสียลดลง จริงๆ แล้วผมยังไม่พอใจ เพราะแม้แต่คนเดียวผมก็ไม่อยากให้สูญเสีย แต่ทหารตำรวจต้องเสียสละ เรื่องการพัฒนา การลงทุนจะเกิดได้ พื้นที่ต้องสงบ ปลอดภัย ถ้ามีการใช้ความรุนแรงอยู่ มีการใช้อาวุธอยู่ มันก็ไม่จบ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยใช้อาวุธก่อน นอกจากป้องกันตนเอง ป้องกันครู พระ ผู้หญิง เด็ก เป้าหมายอ่อนแอ การพูดถึงปัญหาภาคใต้ต้องระวังอย่างที่สุด มิฉะนั้่นจะกลายเป็นประเด็นการเมืองทั้งในและต่างประเทศ แต่ถ้ามีข้่อเสนอแนะก็มาแนะนำได้ ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ"

"การแก้ปัญหามันละเอียดอ่อน ซับซ้อน และไม่เหมือนประเทศอื่น ไม่เหมือนจริงๆ อย่าไปยกตัวอย่างที่โน่นที่นี่ ไม่เหมือนกัน ประเทศอื่นมีการยึดพื้นที่ทั้งหมด รัฐเข้าไม่ถึง การพัฒนาเข้าไม่ได้ แต่ประเทศไทยเข้าได้ทุกตารางนิ้ว แต่เสี่ยงนิดหนึ่ง ถ้าไม่มีทหารอยู่ ในพื้นที่มีทั้งคนเดือดร้อน คนไม่เดือดร้อน คนเสี่ยงและคนไม่เสี่ยง อย่าทำให้คน 2 ส่วนนี้มีปัญหาซึ่งกันและกัน"

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงข้อกล่าวหาเรื่องการหาประโยชน์จากไฟใต้โดยใช้เสียงดังอย่างมีอารมณ์

"เมื่อกีhมีคนพูดว่ามีการแสวงประโยชน์จากภาคใต้ ผมไม่เอาชีวิตคนทุกคนมาเพื่อประโยชน์ของผมหรือของใครโดยเด็ดขาด ชีวิตใครใครก็รัก ผมรับผิดชอบเขา รับผิอชอบทหาร รับผิดชอบเมียเขา ลูกเขา ผมจะให้มันสู้ไปทำไมเพื่อซื้ออาวุธ คิดอยางนี้ได้อย่างไร ถ้าคิดอย่างนี้ ไม่เหมาะจะพูดกันในสภาหรอก ชีวิตคนใครก็รัก ผมเป็นทหารเก่า ลูกน้องทุกคน ชีวิตเขา พาเขาไปรบ ถ้าตายใครรับผิดชอบ...ผมด้วย คิดอย่างนี้สิครับ"

"ผมถามว่าใครจะไป ถ้าไม่มีทหาร ใครจะไป ไม่มีทหารเกณฑ์ใครจะไปรบ ภาคใต้เป็นอย่างนี้ เวลามีสงครามแล้วจ้างไปรบ ผมถามใครจะกล้าไปรบ ต้องฝึกหัด ใช้เวลาในการใช้ชีวิตกับทหาร ให้มีวิญญาณในการสู้รบ รู้ว่าข้างหน้าตายเขาก็ไป เพราะเชื่อมั่นในผู้บังคับบัญชาว่าไม่ทิ้งเขา ครอบครัวได้รับการดูแล เยียวยาภายหลัง นี่คือหลักการการเป็นผู้นำ ต้องนึกถึงชีวิตเขาทุกเรื่อง ยามปกติต้องดูแลเขา มีบ้านอยู่ มีน้ำ มีสาธารณูปโภคพื้้นฐานในค่ายให้เขา เพื่อเรียกมาใช้งาน 24 ชั่วโมง นี่คือทหาร ไม่อย่างนั้นมันไปไม่ได้หรอกครับ เรียกยังไงก็ไม่มา"