สจล. ส่ง“ซีร่าคอร์" เทคฯใหม่กลไกควบคุมหุ่นยนต์ ชิงรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 2562

สจล. ส่ง“ซีร่าคอร์" เทคฯใหม่กลไกควบคุมหุ่นยนต์ ชิงรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 2562

“ซีร่าคอร์” เทคฯใหม่กลไกควบคุมหุ่นยนต์จากนักวิจัยวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล.ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแขนกลอุตสาหกรรม และระบบปฏิบัติการในการอัพเกรดระบบที่มีค่าใช้จ่ายสูงจากต่างประเทศ

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานแสดงความความยินดีแก่ นักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2562 ในปีนี้ผลงานวิจัยพัฒนา “แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบ (System Integation) เพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม 4.0 (CIRACORE)” รศ.ดร.ศิริเดช  บุญแสง วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็น 1 ใน 2 ผลงานที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น โดยได้เข้ารับพระราชทานรางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562" แล้ว จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 ในวโรกาสที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 (วทท.45) ของ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย


“ซีร่าคอร์” เทคฯใหม่กลไกควบคุมหุ่นยนต์  รศ.ดร.ศิริเดช  บุญแสง วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เจ้าของผลงาน “แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบ (System Integation) เพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม 4.0 (CIRACORE)” โดยซีร่าคอร์ คือ หนึ่งในนวัตกรรม Software + Controller สามารถใช้ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ พัฒนาจาก Opensouce จนสามารถใช้งานได้ง่ายด้วยเทคนิคการโปรแกรมมิ่งเชิงสัญลักษณ์ (Graphic programming) หรือ Node Programming มีความยืดหยุ่นสูง สามารถพัฒนา เพิ่มเติม Function อื่นๆได้เรื่อยๆตามลักษณะการนำไปใช้งานจริง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการศึกษา 

รศ.ดร.ศิริเดช เปิดเผยว่า นอกจากนี้ยังมีส่วนของดีฟเลิร์นนิ่ง เพื่อให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ว่าจะจัดการกับปัญหาอย่างไรโดยไม่ต้อง “โปรแกรม” ทำให้การใช้งานดีฟเลิร์นนิ่งเป็นไปได้ทุกอุตสาหกรรม และส่งผลข้อมูลจำนวนมหาศาลในอุตสาหกรรมการผลิตหรือบิ๊กดาต้า สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อขยายผลทางธุรกิจในอัลกอริทึมใหม่ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการ ลดข้อจำกัดในการเชื่อมโยงและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแขนกลอุตสาหกรรมและระบบปฏิบัติการในการอัพเกรดระบบที่มีค่าใช้จ่ายสูงจากต่างประเทศ ปัจจุบันนำร่องใช้ในบริษัทต่างๆไม่ว่าจะเป็นการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัท Denso (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ระบบการจ่ายปูนซีเมนต์ด้วยเทคโนโลยีเรียนรู้เชิงลึก 


ข้อมูลเพิ่มเติม

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดให้มีโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา กล่าวถึงความสำคัญของรางวัลว่า "ศักยภาพและความสามารถในการสร้าง / พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติ หรือเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนในประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศนั้นๆอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีแรกของการมอบรางวัล จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้งประเภทกลุ่ม และบุคคลไปแล้วรวม 30 รางวัล และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่รวม 28 รางวัล