ไฟฟ้าชุมชนปลุกฝันกลุ่มก๊าซชีวภาพ

ไฟฟ้าชุมชนปลุกฝันกลุ่มก๊าซชีวภาพ

ย้อนไปช่วงต้นปี 2561 การออกมาส่งสัญญาประกาศว่าจะหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปี (2561-2565) ของ “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น กลายเป็นนโยบายที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

สมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย เป็นกลุ่มหนึ่งที่ออกมาสะท้อนถึงผลกระทบต่อนโยบายดังกล่าวที่ส่งผลให้การลงทุนหยุดชะงักลง บนพื้นฐานที่ว่าจะต้องมีการรับซื้อไฟฟ้ากลุ่มก๊าซชีวภาพ 600 เมกะวัตต์ต่อปี ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2558-2579 หรือ แผน AEDP 2015 เท่ากับว่าจะต้องมีการรับซื้อที่ประมาณ 120 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งจะมีเม็ดเงินลงทุนหายไปจากระบบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท จึงต้องการให้รัฐทบทวนนโยบายดังกล่าว เพราะยังจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่ต้องนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มชีวมวลด้วย

แต่จนถึงปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน ก็ยังไม่มีการเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพแต่อย่างใด อีกทั้งการทบทวนแผน AEDP 2018 ตามการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศของประเทศ ปี2561-2580 (แผนPDP 2018) ก็ยังไม่มีการจัดสรรโควตารับซื้อไฟฟ้าก๊าซชีวภาพเพิ่มเติม

กระทั่ง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน ได้ประกาศนโยบาย “Energy for all” หรือ พลังงานสำหรับทุกคน เพื่อผลักดันเรื่องของพลังงานบนดิน ยกระดับรายได้ของชุมชนตามนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลชุมปัจจุบัน ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมกับชุมชนเป็นหุ้นส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและสามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้กลับเข้าสู่ระบบได้

ผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐประกาศโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ได้ทำหนังสือไปสอบถามสมาชิกในกลุ่มฯ ที่เคยได้รับผลกระทบจากนโยบายหยุดรับซื้อไฟฟ้า ในอดีต ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้จำนวน 50 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ โดยพบว่า มีผู้ประกอบการตอบกลับมา 20 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 30-40 เมกะวัตต์ แสดงความพร้อมร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

อาทิ โรงไฟฟ้าของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ซึ่งมีโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจำนวน 2 โรงที่ขอนแก่น กำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ และบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ซึ่งมีโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจำนวน 2 โรงที่บุรีรัมย์ กำลังการผลิตรวม 4 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้

157131936970

157138903246

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการได้ที่รับความเดือดร้อนเช่นกัน ดังนั้นจึงเสนอไปยังกระทรวงพลังงานแล้วว่ามีโรงไฟฟ้าที่พร้อมร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทเร่งด่วน (Quick Win) ทันที 20 โครงการ

“โครงการนี้ฯจะไม่มีผลตอบแทนให้กับภาคเอกชนเลยคงไม่ได้ แต่จะต้องเป็นโครงการฯที่มีผลตอบแทนต่ำกลับมาไม่เช่นนั้นโครงการฯจะไม่เกิดขึ้น หรือแบงก์รัฐจะต้องยอมรับอัตราผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ต่ำได้ เช่น ราว10% จากปกติ บริษัทในตลาดหุ้นทั่วไปจะการันตี IRR ระดับ 15% เพื่อให้แบงก์มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ” ผจญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าชุมชน ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการก๊าซชีวภาพที่มีความพร้อม และยอมรับผลตอบแทนตามเงื่อนไขของโครงการได้ ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่ลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ หรือช่วยให้เงินลงทุนไม่สูญเปล่า

ผจญ มองว่า โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นโมเดลที่ดี แต่ขั้นตอนรายละเอียดสัดส่วนการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับชุมชนนั้น ภาครัฐต้องดูแลให้เหมาะสมด้วย ทั้งรายได้จากการขายวัตถุดิบ ส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องคืนสู่ชุมชน และสัดส่วนการถือหุ้นของชุมชน ที่ยังมีความซับซ้อนกันอยู่

สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน ปัจจุบัน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน คาดว่าจะชัดเจนภายใน 1 เดือน จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนประกาศรูปแบบโครงการฯต่อไป

โดยเบื้องต้น พพ. กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของวิสาหกิจชุมชน 10% และเอกชน ซึ่งอาจร่วมกับภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วน 90% ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนอย่างน้อย 25 สตางค์ต่อหน่วย

ขณะที่รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน กำหนดไว้ 7 ประเภท ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) 2.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน)-พลังงานแสงอาทิตย์ 3.โรงไฟฟ้าชุมชน ชีวมวล 4.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ 5.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) 6.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย-ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ และ7.โรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์