เช็คอารมณ์เด็ก ป้องกัน 'โรคซึมเศร้า' ในโรงเรียน

เช็คอารมณ์เด็ก ป้องกัน 'โรคซึมเศร้า' ในโรงเรียน

'โรคซึมเศร้า' สามารถเกิดขึ้นได้ทุกคน แม้ว่าไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ด้วยปัจจัยหลากหลายที่เร้าต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ขณะที่ทางการแพทย์อธิบายว่าเป็นความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ของคนๆ หนึ่ง เกิดความรุนแรงจนอยากฆ่าตัวตาย

ในงาน "มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 12 หรือ EDUCA 2019" ภายใต้แนวคิด "พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้" จัดโดยบริษัท ปิโก(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้มีการหยิบยกประเด็น "โรคซึมเศร้า..ในโรงเรียน" เพื่อส่งต่อความรู้ไปยังเหล่าคุณครู ป้องกันโรคซึมเศร้าที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียน

นพ.พนม เกตุมาน ประธานชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย วิทยากรที่มาให้ความรู้แก่เหล่าคุณครูเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า อันนำไปสู่การป้องกัน และแนวทางแก้ปัญหาเมื่อพบเด็ก เยาวชนมีภาวะโรคซึมเศร้า ว่าภาวะโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต แต่เด็กเล็กอาการไม่ชัดเจน 

ดังนั้น จึงไม่ได้เห็นภาพว่าเด็กเล็กเป็นโรคซึมเศร้า แต่จริงๆ แล้วเด็กทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ โดยอาการของโรคซึมเศร้า ต้องสังเกตจากพฤติกรรมของเด็กในการแสดงออก ซึ่งเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่เบื้องล่างเกิดจากระบบความคิด ความรู้สึก เด็กที่มีประสบการณ์ไม่ดี อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหา เป็นการสะสมเรื่อยๆ จนกระทั่งแสดงออกมาตอนใดตอนหนึ่งโดยเกิดจากสภาพแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น

157131939821

ปัจจุบันเจอเด็กวัยรุ่นมีอาการโรคซึมเศร้าจนทำให้เกิดการอยากตาย และฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนเดิม มองทุกอย่างแง่ลบ รู้สึกแย่ หดหู่ ท้อแท้ มองทางออกของสิ่งที่พบไม่เจอ และไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งโรคซึมเศร้ามีโอกาสเสี่ยงที่อยากฆ่าตัวตายอยู่เสมอ เพราะมีอาการสวิงของอารมณ์ตลอดเวลา จนดูไม่ออกว่าจะดิ่งเมื่อใด

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะจิตใจอ่อนแอเท่านั้น ซึ่งจริงๆ คนจิตใจปกติก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยโรคซึมเศร้าเป็นโรคจิตเวทไม่ใช่โรคจิต เพราะคนซึมเศร้าไม่ได้มีภาพหลอนถ้าไม่ได้เป็นอาการหนัก แต่จะเป็นเรื่องของอารมณ์ ซึ่งไม่สามารถหายเองได้ และภาพการฆ่าตัวตายทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าเกิดการเลียนแบบ

นพ.พนม กล่าวต่อว่า ทุกคนสามารถถามความคิดการอยากตายได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการกระตุ้น แต่ต้องมีเทคนิคในการถาม ส่วนการตามใจคนเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่นั้น ในความเป็นจริงควรเป็นการตามใจอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่เป็นการตามใจหรือให้สิทธิพิเศษ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ ทุกคนจะเป็นโรคซึมเศร้าเพื่อเรียกร้องสิทธิพิเศษ โดยครูต้องไม่ให้สิทธิพิเศษแก่เด็กกลุ่มนี้

157131939749

โรคซึมเศร้า มีอัตรามากขึ้นโดยความชุก 1 ปี เท่ากับ 5% ซึ่งประชากรทั่วโลกความชุกชั่วชีวิต 15 -20 % เช่น คน 100 คน สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้ประมาณ 15 คน โดยในวัยเด็ก แบ่งเป็น เด็กเล็ก 0.3% วัยเรียน 2% และวัยรุ่น 5% 

ซึ่งอาการโรคซึมเศร้าจะมีทั้งหมด 9 อาการ ได้แก่ 1.ต้องมีอารมณ์เศร้า หงุดหงิด 2.หมดความสนใจหรือความสุขในกิจกรรม 3.น้ำหนักลดหรือเบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป 4.นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป 5.กระวนกระวายหรือเฉื่อยชา 6.รู้สึกอ่อนเพลีย หรือไม่มีแรง 7.รู้สึกผิดไร้ค่า ผิดโทษตัวเอง 8.สมาธิความจำเสีย ไม่สามารถตัดสินใจได้ และ9.อยากตาย ซึ่งถ้าเป็นต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นมา10 วัน แต่มีข้อ9 ก็สามารถเป็นได้

สาเหตุโรคซึมเศร้า เกิดจากสารเคมีในสมอง สื่อสารนำประสาท ชีโรโทนิน นอร์อีปิเนฟฟริน ซึ่งเมื่อทานยาจะทำให้อาการดีขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 6 เดือน และจะลดยา เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างสื่อสารนำประสาทเหล่านี้ได้ นอกจากนั้นพันธุกรรม ถ้าคนในครอบครัวเป็นโรคนี้จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนทั่วไป จิตใจ ภายหลังวิกฤต บุคลิกภาพผิดปกติ สังคม การขาดความสัมพันธ์ เป้าหมายชีวิตก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้

ครูต้องนึกไว้เสมอว่าเด็กทุกคนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ ครูอย่าประมาท ซึ่งบทบาทครู อาจารย์ ต้องทำความรู้จักนักเรียน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ สร้างพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อจะได้เห็นภาพเด็กแต่ละคนว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ รวมถึงต้องพัฒนาการบุคลิกภาพ ทักษะสังคม สนับสนุน ทุน แนะแนว ช่วยเหลือเบื้องต้น ส่งต่อ ติดตาม ทำงานร่วมกับแพทย์”นพ.พนม กล่าว

157131939730

พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกุมารเวชศาสตร์ จิตเวชเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่าเด็กไทยไม่มีการฝึกให้พูดถึงอารมณ์ของตนเอง แต่ในต่างประเทศจะมีวิชาอธิบายอารมณ์ของตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมีการสอนให้เด็กได้แสดงอารมณ์ของตนเอง แต่บ้านเราเป็นการให้เด็กเก็บอารมณ์ จนกลายเป็นการเก็บอารมณ์ ซึ่งพ่อแม่ ครูสามารถช่วยให้เด็กฝึกอธิบายอารมณ์ได้ โดยการถามง่ายๆ เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง สนุกหรือไม่ เพื่อให้เด็กได้เช็คอารมณ์ของตนเองออกมา

"ปัจจัยบวกที่ทำให้คนไม่มีโอกาสโรคซึมเศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้าได้น้อยต้องมีสัมพันธ์ภาพที่ดี มีการจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี เป็นคนคิดบวก เห็นคุณค่าของตนเอง และเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ดังนั้น การป้องกันภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น ต้องส่งเสริมทักษะชีวิตตั้งแต่เด็ก โดยต้องทำให้เด็กรู้จักแก้ไขปัญหา จัดการอารมณ์และความเครียด รู้จักการสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพ มีเป้าหมายในชีวิต และเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยเฉพาะการเห็นคุณค่าในตัวเองมีความสำคัญอย่างมาก โดยครูต้องฝึก สร้างให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ ถ้าเขาต้องช่วยคนอื่นรู้ว่าตนเองมีประโยชน์ตั้งแต่แรกจนกลายเป็นนิสัย ต่อให้เจอภาวะดิ่งของชีวิต เขาก็จะก้าวเดินต่อไปได้" พญ.วินัดดา กล่าว