สถาบันมะเร็งแห่งชาติส่ง เอไอ เติมความฉลาดเครื่องแมมโมแกรม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติส่ง เอไอ เติมความฉลาดเครื่องแมมโมแกรม

"เอไอ แมมโมแกรม" เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีระหว่าง เอไอ กับ เแมมโมแกรม  สถาบันมะเร็งแห่งชาติ มุ่งยกระดับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มั่นใจช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ ลดการทำงานของบุคลากร หวังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงบริการ

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ริเริ่มโครงการวิจัยพัฒนาระบบคัดกรองมะเร็งเต้านม AI Mammogram โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามาเสริมประสิทธิภาพเครื่องแมมโมแกรมให้ฉลาดและทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น สามารถคัดแยกระดับความเสี่ยงของรอยโรคที่ตรวจพบได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ในการอ่านประเมินผลการตรวจแมมโมแกรม ทำให้เกิดผลดี 2 ประการคือ ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์รังสีวินิจฉัย และลดต้นทุนการตรวจ อัลตร้าซาวนด์เต้านม ที่ไม่จำเป็น โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ที่จัดกิจกรรม “โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม” รณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งเต้านมรูปแบบต่างๆ


ทั้งนี้ การ ตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องแมมโมแกรม สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้มากถึง 30% สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ แมมโมแกรม จะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน แต่ลักษณะเต้านมของผู้หญิงเอเชียมีความหนาแน่นมาก ไขมันน้อย ทำให้เห็นความผิดปกติของมะเร็งได้ยาก จึงต้องตรวจ อัลตร้าซาวนด์ เพิ่มเติม ทำให้การ ตรวจมะเร็งเต้านม ของไทยมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ภาครัฐไม่สามารถอุดหนุนให้อยู่ในสิทธิ์เบิกจ่ายได้ รวมถึงยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์รังสีวินิจฉัยไม่เพียงพอต่อผู้รับบริการ แตกต่างจากการตรวจคัดกรองในประเทศตะวันตก ซึ่งจะใช้การตรวจทั้งสองวิธีร่วมกันก็ต่อเมื่อต้องการวินิจฉัยความผิดปกติภายหลังการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น

โปรแกรม เอไอ แมมโมแกรม (AI Mammogram) นอกจากข้อดีเรื่องการมีระบบการประมวลผลได้เองและรวดเร็วขึ้น ยังจะช่วยทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมและมีผลการตรวจเป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจอัลตร้าซาวนด์ควบคู่กันอีกต่อไป ไม่เพียงช่วยลดภาระแพทย์ในการตรวจอัลตร้าซาวนด์ที่ไม่จำเป็นลง ทำให้แพทย์มีเวลาในการตรวจผู้ป่วยที่มีรอยโรคต้องสงสัยเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้มากขึ้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการตรวจเช็คสุขภาพถูกลง พวกเขาย่อมจะเข้าถึงการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการรักษา


  โครงงานวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 

ระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาโปรแกรมเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน 

ระยะที่ 2 เป็นการสอนให้โปรแกรมเรียนรู้ เพื่อให้สามารถแยกกลุ่มความผิดปกติและความปกติออกจากกัน ซึ่งใช้เวลาราว 4-6 เดือน 

ระยะที่ 3 จะเริ่มทดลองใช้งานจริง เพื่อทดสอบความแม่นยำเบื้องต้นและพัฒนาปรับแต่งโปรแกรมให้เกิดความเสถียรยิ่งขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 4-6 เดือน และหากโครงงานวิจัยประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตั้งใจจะนำไปใช้ตามโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสำหรับโรงพยาบาลอื่นๆ ของรัฐบาล จะคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำมาก เพื่อใช้เป็นทุนซ่อมบำรุงเครื่องมือ โดยเฉพาะส่วนประมวลผลและส่วนจัดเก็บข้อมูล รวมถึงนำไปพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อการต้านภัยมะเร็งต่อไป