ผลงานสร้างขีดแข่งขัน 'สวทช.-สจล.' คว้ารางวัล นักเทคโนโลยีดีเด่น ปี 62

ผลงานสร้างขีดแข่งขัน 'สวทช.-สจล.' คว้ารางวัล นักเทคโนโลยีดีเด่น ปี 62

สวทช. เกี่ยวก้อย สจล. ครองรางวัล นักเทคโนโลยีดีเด่น ปี 62 จากผลงานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติฯ และเทคโนโลยีฐานด้านควบคุมระบบหุ่นยนต์ รับเงินรางวัลละ 5 แสนบาทพร้อมประติมากรรม เรือใบซุปเปอร์มด

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดให้มีโครงการ รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่เมื่อปี 2543 เป็นต้นมา เพื่อเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานดีเด่น ไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐหรือภาคเอกชน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก ปัจจุบันมีผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้งประเภทกลุ่ม และบุคคลไปแล้วรวม 30 รางวัล และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่รวม 28 รางวัล ส่วนปีนี้มี 62 โครงการเข้าสู่การพิจารณา แบ่งเป็นโครงการนักเทคโนโลยีดีเด่น 41 โครงการและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 21 โครงการ ซึ่งไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก


รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่นั้น ทางมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯได้มีเกณฑ์ในการพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลทั้งมิติด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยีและมิติด้านบุคคล มีคณะกรรมการคัดเลือกที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา โดยพิจารณาจากเอกสารและการเข้าเยี่ยมชมในสถานที่จริง จนเหลือโครงการที่มีความโดดเด่นในทุกๆด้าน ผลการตัดสินในรอบสุดท้ายจึงมาจากมติที่เป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และสำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2562 ซึ่งมีทั้งหมด 2 รางวัลด้วยกัน โดยรางวัลแรกได้แก่ ศ.ไพรัช ธัชยพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการ “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ รศ.ศิริเดช บุญแสง รองศาสตราจารย์ วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงาน “แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบ (System Integation) เพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม 4.0 (CIRACORE)”

นักวิจัยรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้ง 2 ท่าน ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 (วทท.45) ของ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย


ด้านนายแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การเติบโตของประเทศในเชิงเศรษฐกิจต้องอาศัยงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศเองหรืออาจต่อยอดจากต่างประเทศ แต่ควรจะต้องมีคอนเทนต์ที่คิดเองโดยนักวิจัยไทย ดังนั้น รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจึงเป็นการกระตุ้นให้นักวิจัย นักเทคโนโลยีไทย ได้มีความพยายามที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีของไทยเองในด้านต่างๆ โดยรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ไม่เกิน 2 รางวัลต่อปี รางวัลละ 5 แสนบาท ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ไม่เกิน 2 รางวัล รางวัลละ 1 แสนบาท ในปีนี้มีโครงการของนักเทคโนโลยีรวมทั้งสิ้น 62 โครงการ แบ่งเป็นโครงการนักเทคโนโลยีดีเด่น 41 โครงการและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 21 โครงการ


“เกณฑ์พิจารณาในสาขาต่างๆแต่ละปีหลากหลายสาขาก็จะแตกต่างกันออกไป อาทิ เกษตรและอาหาร การแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม วัสดุศาสตร์ เครื่องสำอางค์ เครื่องกล และคอมพิมเตอร์ ซึ่งนักวิจัยดีเด่นมีเกณฑ์คะแนนที่สูงสุดการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ไปจดสิทธิบัตร หรือมีการให้ไลเซ่นส์แก่บริษัทเอกชนนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือทำรายได้เข้าประเทศได้ก็จะมีคะแนนสูงที่สุด ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่มีอายุไม่เกิน 40 ปี เน้นเนื้อหาของงานที่มีความโดดเด่น ในเชิงเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ นับว่าเป็นการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังส่งผลให้มีบุคลากรที่มีความสามารถในด้านต่างๆที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายแพทย์ รุจเวทย์ กล่าว


นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า นอกจากการร่วมแสดงความยินดีและเชิดชูเกียรติของนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่แล้ว TMA ยังเป็นอีกหนึ่งองค์กรหลักที่ช่วยผลักดันให้นักเทคโนโลยีลุกขึ้นมานำเสนอไอเดียและต่อยอดงานวิจัยให้สามารถวางสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ มุ่งเน้นให้ความสำคัญและสร้างประโยชน์อันเกิดจากความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากหน่วยงานวิจัยไปสู่ภาคธุรกิจ อีกทั้งเป็นพื้นที่เชื่อมโยง ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบได้อย่างภาคภูมิ