สูตรสร้างคนเปลี่ยนโลก ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’

สูตรสร้างคนเปลี่ยนโลก ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’

แม้จะดำเนินธุรกิจที่ว่าด้วยดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นด้านการจัดการพลังงาน และระบบออโตเมชั่น แต่ชไนเดอร์ อิเล็คทริคมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องคน เพราะการทรานส์ฟอร์มไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีแต่เป็นเรื่องการเปลี่ยนมายด์เซ็ทและพฤติกรรมของคน

"พีเพิล วิชั่น ของเราจะอะไลน์ไปกับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่นในทุกๆประเทศที่เรามีสาขา และเราก็ไม่ได้ลงทุนให้กับพนักงานของเราอย่างเดียว เปิดโอกาสกว้างให้คนทั่วไปที่ต้องการจะเรียนรู้และขับเคลื่อนนวัตกรรมให้กับประเทศ สำหรับประเทศไทยก็คือนโยบายไทยแลนด์ 4.0"

“อังเดร ยัง ดิโป เพรสมา” ผู้อำนวยการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทยและลาว บอกว่า การทรานส์ฟอร์มคนหรือพนักงานได้สำเร็จหรือไม่ HR หรือบริษัทจำเป็นต้องแน่ใจว่า หนึ่ง มีนโนบายทางด้าน HR ที่ดี มีการสนับสนุนเวิร์คเพลสที่เหมาะสมต่อการทำงาน รวมถึงมีโปรแกรมการพัฒนาต่างๆ ที่จะช่วยโมติเวทให้พนักงานสามารถสร้างความแตกต่าง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทยได้รับรางวัล บริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุด หรือ “The Best Companies to Work for in Asia 2019 Award”

สอง ผู้บริหารระดับกลางถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะต้องทำหน้าที่ Change Agent ผลักดันทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และสาม ทีมผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องเป็นต้นแบบ ทำหน้าที่นำและสร้างวัฒนธรรมที่ว่าด้วยการทรานส์ฟอร์ม เพื่อทำให้พนักงานทุกคนพร้อมและเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องมายด์เซ็ทและพฤติกรรม

สำหรับพีเพิล วิชั่น ของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะว่าด้วยการสร้างคุณค่าของพนักงานในองค์กร (Employee Value Proposition – EVP)  ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความแตกต่างจากองค์กรอื่นๆได้สำเร็จ ประกอบด้วย 1.Meaningful การทำงานไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง พนักงานทุกคนยังมุ่งทำให้โลกน่าอยู่ มุ่งสร้างโลกสีเขียว 2.Inclusive  บริษัทเชื่อในเรื่องความเท่าเทียม ความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเพศ อายุ เชื้อชาติ การทำงานร่วมกันเพราะจะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม และ 3. Empowered  ให้พนักงานมีอำนาจตัดสินใจในงานที่รับผิดชอบตามความรู้ความสามารถของแต่ละคน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่านิยม ที่มีอยู่ 5 ข้อ ได้แก่ 1. Customer First สำหรับ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ลูกค้าคือคนสำคัญที่สุด ดังนั้นพนักงานทุกคนก็ต้องเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า 2.Dare to Disrupt พนักงานต้องกล้า ต้องไม่ทำอะไรแบบซ้ำๆ เดิมๆ พร้อมจะเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 3. Embrace Different เปิดรับความแตกต่างหลากหลายของพนักงาน 4. Learn Every Day เรียนรู้ทุกวัน ยอมรับล้มเหลวได้ ทำผิดได้ แต่ต้องเป็นบทเรียนนำมาเรียนรู้เพื่อจะไม่ผิดซ้ำ และ 5.Act Like Owners พนักงานทุกคนต้องทำงานด้วยจิตวิญญานความเป็นเจ้าของบริษัท

“ค่านิยมทั้งหมดข้อที่เราอยากเน้นย้ำมากที่สุดก็คือ Dare to Disrupt เพราะมันเชื่อมโยงโดยตรงกับเป้าหมายทั้งเรื่องนวัตกรรมในองค์กรและนโยบายไทยแลนด์ 4.0”

ทั้งยกตัวอย่างเป็นเรื่องการพัฒนาซอฟต์ซึ่งจะมีช่วงของอัลฟาและเบต้า ในช่วงอัลฟาเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มพัฒนา แต่เบต้าเป็นซอฟท์แวร์ที่พร้อมจะลอนซ์สู่ตลาด แต่ก็ยังไม่ได้เพอร์เฟ็คต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง อังเดรบอกว่าพนักงานของชไนเดอร์ อิเล็คทริค จำเป็นต้องอยู่ในโหมดเบต้าตลอดเวลา แม้ว่าจะทำได้ดีแล้วแต่ไม่ได้หมายถึงดีที่สุด สามารถทำได้ดีขึ้นได้อีก พัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นได้อีก 

บริษัทยังสนับสนุนให้พนักงาน คิดใหญ่ ทำผิดได้ พลาดได้  โดยได้จัดโปรแกรมที่จะช่วยสนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้และฝึกฝน ซึ่งทุก ๆโปรแกรมเปิดกว้างสำหรับพนักงานทุกคนที่พร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

โปรแกรมแรก ชื่อว่า “Catalyst”  แม้จะเปิดกว้างสำหรับทุกคน แต่ก็มุ่งเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปีเป็นพิเศษ อังเดรยังมองว่า โปรแกรมนี้โดดเด่นและสร้างความแตกต่างได้ดีที่สุด เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และยังมีพาร์ทที่ให้ทุกคนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริง ๆ

โปรแกรมที่สอง สำหรับพัฒนาศักยภาพพนักงานที่เป็นท้อบ โพรเทนเชียล หรือผู้ที่มีแนวโน้มจะก้าวสู่ลีดเดอร์หรือผู้บริหารได้  โปรแกรมนี้ทำร่วมกับ “INSEAD” สถาบันชั้นนำจากฝรั่งเศส

โปรแกรมที่สาม “Explorer Program”  มีทั้งอิมพอร์ตพนักงานจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเพื่อให้พนักงานมีโอกาสทำงานกับคนต่างชาติต่างภาษา และเอ็กซ์พอร์ตพนักงานไทยไปทำงานในประเทศอื่น ๆเพื่อให้มีประสบการณ์การทำงานในระดับนานาชาติ

“ที่ผ่านมาเรามักจะอิมพอร์ต ไม่ค่อยได้ส่งออกพนักงานไทยไปทำงานที่ประเทศอื่น เพราะคนไทยส่วนใหญ่รักครอบครัว รักเพื่อนฝูง ชอบอยู่ในคอมฟอร์ทโซน แต่จากนี้บริษัทเรามีแผนจะเอ็กซ์พอร์ตมากขึ้น”

โปรแกรมที่สี่ “Ignite” ที่โฟกัสในเรื่องการพัฒนาจุดแข็งของผู้นำ ผู้บริหาร แทนที่จะมุ่งปิดจุดอ่อนเหมือนที่ผ่านมา โปรแกรมห้า “Hackathon” ที่นำดีไซน์ ทิงกิ้ง มาช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมีบิสิเนสเคสต่างๆให้ได้ทดลองทำ

โปรแกรมสุดท้าย และอังเดรบอกว่าถือเป็นไฮไลต์ก็คือ “Talent Assessment”  มีการประเมินความสามารถด้านดิจิทัลของพนักงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ๆแรก ดิจิทัล ซิติเซ่น มีความสามารถในการใช้ดิจิทัล กลุ่มที่สอง ดิจิทัล ดิสรัปเตอร์ ค่อนข้างไฮเทค สามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเองได้ กลุ่มที่สาม ดิจิทัล ลีดเดอร์ ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อแบ่งประเภทแล้วจากนั้นเทคแอคชั่นพัฒนาให้เหมาะสมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากพัฒนาพนักงาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริคเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ฟรีๆ ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อ “เอ็นเนอยี่ ยูนิเวอร์ซิตี้” ที่มีหลักสูตรมากกว่า 500 หลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอนเนอยี่ เมเนจเมนท์ , โปรเจ็ค เมเนจเมนท์ ,เทคโนโลยี ฯลฯ  รวมถึงโปรแกรมที่น่าสนใจก็คือ “Go Green in the City”  ที่ต้องการสนับสนุนนักศึกษาวิศวกรที่เก่งและพร้อมจะเป็นผู้นำธุรกิจในอนาคต เป็นต้น

"เรากำลังมุ่งสู่ดิจิทัล อีโคโนมี มีความจำเป็นต้องการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลให้กับพนักงาน  ความท้าทายที่ถือว่ายากที่สุดก็คือ การเปลี่ยนมายด์เซ็ท จะทำอย่างไรให้พนักงานกล้าจะชาเลนจ์ กล้าบอกหัวหน้าว่าที่ทำอยู่ไม่โอเค ซึ่งมายด์เซ็ทไม่สามารถเปลี่ยนได้แค่ข้ามคืน ต้องใช้เวลา และไม่แค่พนักงาน ผู้จัดการและผู้บริหารก็ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทด้วย ต้องเปิดใจยอมรับการชาเลนจ์จากลูกน้องด้วย"

อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าการทำงานในโลกยุคนี้ รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องอาศัยการจับมือ ร่วมทำงานกับทุกๆภาคส่วน จะไม่มีใครสร้างความสำเร็จได้เพียงลำพัง