"ไทยคม" ผนึกต่างชาติ ลุยดาวเทียมใหม่ รับเปิดเสรีต้นปีหน้า

"ไทยคม" ผนึกต่างชาติ ลุยดาวเทียมใหม่ รับเปิดเสรีต้นปีหน้า

“ไทยคม” พร้อมรับมือดาวเทียมหมดสัญญาสัมปทาน ทั้งการทำ “พีพีพี” และ “การใช้ดาวเทียมต่างชาติ” หลังกฏหมายเปิดเสรีต้นปีหน้า คาดจับมือพันธมิตรต่างชาติไม่เกินกลางปี 2563

ประเด็นการเปิดเสรีดาวเทียมกำลังได้รับความสนใจ เมื่อผู้ให้บริการอย่าง “ไทยคม” มีดาวเทียมที่กำลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส อยู่ระหว่างทำเงื่อนไขสัญญาหรือทีโออาร์ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (พีพีพี) ดาวเทียมดวงที่ 4,5 และ6 ของไทยคมที่จะสิ้นสุดสัมปทานเดือนในกันยายน 2564 การทำพีพีีพีเป็นมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) ในการหาเอกชนมาบริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัมปทาน จึงน่าจับตาการเปลี่ยนแปลงและทิศทางของ “ไทยคม” ผู้ที่ให้บริการดาวเทียมรายใหญ่ของไทยนับจากนี้

  • เร่งสรุปดีลต่างชาติเปิดบริการใหม่

นายยอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยคมสนใจการทำธุรกิจดาวเทียมทั้งในรูปแบบ พีพีพี กับ กระทรวงดีอีเอส และ การใช้ดาวเทียมต่างชาติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่า จะเปิดเสรีดาวเทียมทั้งดวงใหม่ และเปิดให้ดาวเทียมต่างชาติมาขอใช้สิทธิประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้ภายในต้นปีหน้า

“ขณะนี้ไทยคม อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรต่างชาติ 2-3 ราย คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ไม่เกินกลางปีหน้า” นายอนันต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันธุรกิจที่มาจากการให้เช่าวงโคจรดาวเทียมยังอยู่ที่ 80% แต่ในอนาคตไทยคมจะมีสัดส่วนระหว่างธุรกิจดาวเทียม และธุรกิจใหม่ ที่เน้นการให้บริการเป็นโซลูชั่นอยู่ที่ 50:50 โดยเร็วๆ นี้ จะเปิดตัวบริการในรูปแบบบริษัทใหม่ใต้การบริหารงานไทยคมให้ “บริการเช่าโดรนพ่นยาเพื่อการเกษตร” โดรนดังกล่าวไม่เพียงทำแค่หน้าที่พ่นยาแต่จะเก็บข้อมูลการเกษตร เพื่อนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมการเกษตรได้ ทำให้ช่วยลดการพ่นยา ตลอดจนแก้ปัญหาการหาคนมาพ่นยาไม่ได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการพ่นยา 30%

ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมเสนอรัฐบาลถึงแนวทางในการใช้ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร สำหรับเก็บข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์และวางแผนการส่งออกพืชผลการเกษตรของประเทศไทยด้วย รวมถึงการให้บริการเครื่องบินไร้คนขับ และ มอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า ด้วย

  • ทรานส์ฟอร์มรับการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ไทยคม มองว่า มิติใหม่ของดาวเทียมจะไม่ใช่การให้เช่าวงโคจรสื่อสารเพื่อให้บริการเคเบิลทีวี หรือใช้อินเทอร์เน็ตอีกต่อไป อนาคต “บิ๊กดาต้า” สำคัญต่อการนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ไทยคมจึงเริ่มทรานเฟอร์มองค์กรมา 2-3 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการแบบโซลูชั่นมากขึ้น

ด้านนายปฐมภพ สุวรรณศิริ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ กสทช.เปิดเสรีดาวเทียม ด้วยการให้ต่างชาติขอแลนด์ดิ้งไลท์ในประเทศไทยได้นั้น นับเป็นโอกาสอันดีของไทยคม หากเงื่อนไขหรือการทำพีพีพีของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน ไทยคมก็สามารถย้ายลูกค้าไปยังดาวเทียมต่างชาติดวงใหม่ได้ง่ายกว่าการสร้างเองเหมือนแต่ก่อน

157131403668

  • หวั่นคืนคลื่นทำ5จีกระทบลูกค้า

ส่วนประเด็นเรียกคืนคลื่น 3600 เมกะเฮิรตช์ เพื่อทำ 5จี ไทยคม ยืนยันว่า ขณะนี้มีลูกค้าใช้งานอยู่ 10 ล้านครัวเรือน หากเรียกคืนต้องมีผลกระทบ หรือหากให้ขยับคลื่นไปที่ 3700-4200 เมกะเฮิรตช์ ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่าย กสทช. กระทรวงดีอีเอส และ ไทยคมต้องหาทางออกร่วมกัน และมีการจ้างที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบก่อนจะเรียกคืนด้วย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แม้ในสหรัฐเองก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในการย้ายลูกค้า หรือ ย้ายคลื่นแต่อย่างใด แต่เรายืนยันว่า เมื่อมีผู้ใช้งานย่อมมีผลกระทบและค่าใช้จ่าย”

นายปฐมภพ กล่าวต่อว่า ในปี 2566 เทคโนโลยีของดาวเทียม จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การให้บริการจะเน้นการบริหารจัดการผ่านซอฟต์แวร์ ดาวเทียมไม่ได้ยิงพื้นที่การให้บริการแบบประจำที่อีกต่อไป

“ดาวเทียมจะสามารถยิงพื้นที่ให้บริการไปที่ไหนในโลกก็ได้ สร้างความยืดหยุ่นในการให้บริการอย่างมาก การเริ่มไปสู่การให้บริการใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่าง การให้บริการเครื่องบินไร้คนขับ หากต้องบังคับให้บินในระยะเดิน 10 กิโลเมตร ต้องใช้คลื่นดาวเทียมในการควบคุม นอกจากนี้ ดาวเทียมยังเป็นส่วนหนึ่งในการผสมผสานเทคโนโลยีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 5จี ด้วย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ใช้สัญญาณดาวเทียมเฉพาะพื้นที่ห่างไกล สายไฟเบอร์เข้าไม่ถึง”

สำหรับผลประกอบการไทยคมที่ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2562 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1,217 ล้านบาทลดลง 278 ล้านบาท หรือประมาณ 18% จาก 1,495 ล้านบาท เมื่อไตรมาส 2 ปี 2561 เนื่องจากการลดลงของรายได้การให้บริการดาวเทียม

  • ขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องดาวเทียม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ไทยคมได้ขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง เช่น ดำเนินธุรกิจโครงข่ายบริการด้านการสื่อสารบนเรือ “นาวา” เป็นระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับการเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านดาวเทียมระหว่างเรือ และชายฝั่ง ปัจจุบันเปิดให้บริการกับลูกค้ากลุ่มเรือ Oil&Gas ในอ่าวไทยและทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ไชน่า เกรท วอลล์ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น หรือ ไชน่า เกรท วอลล์ผู้จัดสร้างและส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรชั้นนำจากประเทศจีนร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ และ BeiDou ระบบพิกัดนำทางด้วยดาวเทียมที่พัฒนาและเป็นกรรมสิทธิ์ของจีน

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของไทยคมสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นก้าวสู่การบูรณาการเทคโนโลยีจากอวกาศสู่ภาคพื้นดินและทางทะเลมาใช้เพื่อต่อยอดดำเนินธุรกิจ