จุฬาฯ ขับเคลื่อนนวัตกรรมละครโทรทัศน์ รองรับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

จุฬาฯ ขับเคลื่อนนวัตกรรมละครโทรทัศน์ รองรับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

จุฬาฯ ผนึกภาควิชาชีพ ขับเคลื่อนการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยทั้งในและต่างประเทศผ่านนวัตกรรมละครโทรทัศน์ เน้นจัดวางระบบ สร้างสรรค์ผลงานรูปแบบสมัยใหม่

ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานประชุมและแถลงข่าวโครงการนวัตกรรมละครโทรทัศน์เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 4.0  โดยมีเป้าประสงค์เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยทั้งในและต่างประเทศผ่านสื่อบันเทิงประเภทละครโทรทัศน์ มุ่งใช้สูตรการนำเสนอสมัยใหม่และเนื้อหาวัฒนธรรมจากมุมใหม่ในการรังสรรค์เนื้องาน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าการผลิตละครโทรทัศน์เพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมอย่างมากมาย การนำเสนอวัฒนธรรมไทยผ่านละครจะช่วยสร้างกระแสวัฒนธรรมให้ตื่นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านวัตกรรมความบันเทิงถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ด้วยมหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางความบันเทิงทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว ขาดเพียงการจัดระบบ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงสนับสนุนโครงการนี้เพื่อเปิดทางไปสู่การวางระบบส่งออกสื่อบันเทิงอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ หัวหน้าโครงการ  กล่าวว่าจุดเด่นของโครงการอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพ นั่นทำให้เกิดการเติมเต็มซึ่งกันและกัน และจะเป็นแบบอย่างสำหรับการทำงานในอนาคต

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานอาศัยความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และคณะทำงานภาควิชาชีพ โดยคณะผู้วิจัยทำการค้นคว้าวัฒนธรรมไทยสาขาอาหาร ศิลปะการต่อสู้ เทศกาล และแฟชั่น เพื่อหาปรัชญารวมทั้งนัยที่ซ่อนอยู่แล้วประสานงานกับกลุ่มผู้เขียนบทเพื่อนำเสนอในรูปของบทละครโทรทัศน์ประเภทจบในตอนจำนวน 4 เรื่อง อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์เป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานความบันเทิง

นอกจากนี้ คณะทำงานได้เลือกยึดโยงโจทย์ด้านความบันเทิงโดยดำเนินงานตามกรอบการประพันธ์ละครแนวใหม่ซึ่งมาจากการวิเคราะห์เรื่องเล่าในงานบันเทิงระดับสากลจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องจนได้แนวทางความสนุกสำหรับผู้ชมยุคปัจจุบัน เช่น การสร้างสรรค์ตัวละครสากล การสร้างสรรค์บทสนทนา/การสื่อสารกับผู้ชม การลำดับเนื้อหาให้เร้าใจ เป็นต้น

ปัจจุบันบทละครโทรทัศน์ในโครงการมีความคืบหน้าจนใกล้เสร็จสิ้นเป็นบทฉบับสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับมวยไทย เขียนโดย เพ็ญสิริ เศวตวิหารี ย่านลิเภา เขียนโดย มนชยา พานิชสาส์น สุดท้ายคือสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ รับผิดชอบการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับผัดไทยและผีตาโขน

อย่างไรก็ดี บทละครผัดไทยได้รับงบประมาณสนับสนุนการผลิตเบื้องต้นจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมดำเนินการผลิตในปีถัดไป และจะออกฉายในต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์รวมทั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อจุดประกายการส่งออกละครโทรทัศน์อย่างเป็นระบบดังเช่นที่เกาหลีใต้เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว