‘เจซีไทย-อินเดีย’ปูทางนักลงทุนภารตะเข้าอีอีซี

‘เจซีไทย-อินเดีย’ปูทางนักลงทุนภารตะเข้าอีอีซี

‘เจซีไทย-อินเดีย’ปูทางนักลงทุนจากแดนภารตะ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 2.85 ล้านล้านดอลลาร์ เข้าลงทุนในอีอีซี

กระทรวงการต่างประเทศ นำทัพเจ้าหน้าที่รุกเจรจาอินเดีย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 2.85 ล้านล้านดอลลาร์ หวังมุ่งเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทุกมิติ ภายใต้การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดีย (เจซี) ครั้งที่ 8 ที่กรุงนิวเดลี โดยมีดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมร่วมกัน ผลักดันให้การค้าและการลงทุนทวิภาคีครอบคลุมหลายด้านได้แก่ ทางการเมือง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวความมั่นคงและการป้องกันประเทศ วัฒนธรรม การศึกษาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอวกาศ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชน

ดอน ให้สัมภาษณ์ถึงผลลัพธ์การประชุมเจซีไทย-อินเดียครั้งที่ 8 ว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดีของอินเดียได้ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำอินเดียสมัยที่ 2 เช่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศไทยเป็นสมัยที่ 2  ซึ่งการประชุมดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง ที่สามารถทบทวนประเด็นที่คั่งค้างและต่อยอดความร่วมมือใหม่ๆให้ก้าวหน้า รวมไปถึงได้เชิญชวนธุรกิจและนักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

"การพบปะกันครั้งนี้ มุ่งสร้างพื้นฐานความสัมพันธ์ 2 ประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยมุ่งเป้าเพื่อเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 หรือขยายตัว 2 เท่าจากปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์" รมว.ต่างประเทศ กล่าวย้ำ 

ดอน กล่าวอีกว่า ในการหารือได้ตอกย้ำถึงความตั้งใจที่จะทำให้โครงการถนนทางหลวง 3 ฝ่ายอินเดีย – เมียนมาร์ – ไทย (India-Myanmar-Thailand Tripartite Highway) สามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและอินเดียในอนาคต และส่วนต่อขยายจากกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนามเพื่อสร้างการเชื่อมโยงถนนเส้นนี้ให้เป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ

สำหรับโครงการถนนทางหลวงเชื่อมอินเดีย-เมียนมา-ไทย เป็นหนึ่งในแผนนโยยายการพัฒนาระบบคมนาคมและโลจิสติกส์เพื่อการขนส่ง เป็นระยะทาง 1,600 กิโลเมตร จากเมืองโมเรห์ เมืองชายแดนแคว้นมณีปุระ ผ่านเข้าสู่เมียนมา มาถึงเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมาที่มีเส้นทางเชื่อมต่อมาถึง อ.แม่สอด จ.ตาก  

รมว.ต่างประเทศ ชี้ว่า ขณะที่ความร่วมมือทางน้ำ เพื่อสร้างการขนส่งได้มีการร่วมมือกันในการส่งเสริมความเชื่อมโยงกรอบความคิดริเริ่มอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มจากการลงนามบันทึกความเข้าใจการเชื่อมโยงท่าเรือกฤษณาปัทนัมของอินเดียกับท่าเรือระนองของประเทศไทย

ทั้งนี้ นายดอนและนายสุพรหมณยัม ได้ร่วมกันลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดีย ครั้งที่ 8 เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมย์ความร่วมมือกันในเรื่องหลัก 8 สาขา ได้แก่ 1.ด้านการเมือง จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอินเดียจะมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปลายปี 2562 หรือในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63

2.การทหารและความมั่นคง โดยทั้งสองเห็นพ้องให้ใช้บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือทางทหารและการประชุมหารือด้านการทหารไทย-อินเดีย โดยเน้นย้ำถึงความพร้อมในการทำงานร่วมกัน เช่น ความมั่นคงทางทะเล การลักลอบขนยาเสพติด การค้าอาวุธ และการละเมิดลิขสิทธิ์  3.เศรษฐกิจและการค้า โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-อินเดีย ซึ่งไทยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะโครงการในอีอีซี 

4.ความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับอินเดีย เพื่อเดินหน้าโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย และความตกลงยานยนต์ 3 ฝ่ายที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งการเชื่อมโยงการค้าทางทะเลระหว่างกันตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ 5.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะส่งเสริมโครงการวิจัยร่วมกัน การประชุมเชิงปฏิบัติการในสาขาที่สนใจ เช่น วิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศ

6.การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา โดยฝ่ายไทยแสดงความขอบคุณอินเดียในการขยายทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยนาลันทา ในปีการศึกษา 2563 - 2564 และทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก 100 ทุน ที่สถาบันเทคโนโลยีของอินเดีย สำหรับนักศึกษาไทยภายใต้ ASEAN-India Fellowship Programme 7.กงสุล โดยจัดให้มีคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจด้านการตรวจลงตรา และการกงสุลไทย-อินเดีย อย่างสม่ำเสมอ 

และ 8.ความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคี อินเดียแสดงความชื่นชมต่อบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน และสนใจสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคเมคส์) และความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาระหว่างอินเดียกับความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

นอกจากนี้  รมว.ต่างประเทศของ 2 ประเทศจะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการแห่งกระทรวงการต่างประเทศกับ Foreign Service Institute ของอินเดีย ซึ่งลงนามโดยนายชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงนิวเดลี และผู้อำนวยการ Foreign Service Institute ของอินเดียเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการจัดฝึกอบรมนักการทูตด้วย