อินโดนีเซียป่วนหนักสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อมรุมเร้า

อินโดนีเซียป่วนหนักสารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อมรุมเร้า

ปีนี้ถือเป็นปีแห่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย เริ่มตั้งแต่ปัญหาขยะพลาสติกปริมาณมากมายมหาศาล ปัญหาหมอกควันจากไฟป่า และปัญหาการทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องของกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย แม้ระดับน้ำใต้ดินจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

   เริ่มจากปัญหาหมอกควัน ที่ล่าสุด อินโดนีเซียเตือนประชาชนว่า หมอกควันไฟป่ากลับมารุนแรงอีกครั้งเมื่อวันอังคาร(15ต.ค.) และทำให้หลายจังหวัดตัดสินใจปิดโรงเรียนเพราะคุณภาพอากาศแย่ลง

    สำนักอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซีย ระบุว่า จำนวนจุดความร้อนหรือที่เรียกกันว่า “ฮอตสปอต”บนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งที่มีฝนตก จึงเตือนประชาชนให้ระมัดระวังหมอกควันไฟป่า โดยเจ้าหน้าที่ตรวจพบฮอตสปอตทั้งหมด 1,547 จุดใน 6 จังหวัด 

     ฮอตสปอต เป็นจุดที่บ่งชี้ว่าเกิดไฟป่าขึ้นแล้ว หรือเสี่ยงจะเกิดไฟป่า ซึ่งหมอกควันจากไฟป่าอาจกระทบจังหวัดใกล้เคียงขึ้นอยู่กับทิศทางลม โดยโรงเรียนหลายแห่งเพิ่งเปิดการเรียนการสอนเพราะคุณภาพอากาศดีขึ้นต้องปิดอีกครั้งในสัปดาห์นี้

ที่เมืองปาเลมบัง เมืองเอกของจังหวัดสุมาตราใต้ ถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มควันสีเหลืองทึบ และเมืองนี้สั่งปิดโรงเรียนสามวันตั้งแต่วันจันทร์(14ต.ค.) และอาจขยายออกไปอีกหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เช่นเดียวกับจังหวัดจัมบีบนเกาะสุมาตรา ที่สั่งปิดโรงเรียนอนุบาลสามวัน ส่วนเด็กโต ครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนขอให้สวมหน้ากากอนามัยทั้งช่วงไปกลับและช่วงอยู่ในโรงเรียน ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซีย คาดการณ์เมื่อเดือนก่อนว่า ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงจะช่วยให้ไฟป่ายุติลงได้ หลังจากเผาพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 2 ไร่.

    ต่อมาคือการทรุดตัวลงของพื้นดินในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ที่ล่าสุดเมื่อวันอังคาร(15ต.ค.)ยังคงทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 12 เซนติเมตร โดยเฉพาะบริเวณทางเหนือของเมืองหลวง แม้ว่าระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นตัวการทำให้แผ่นดินยุบตัว    จะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม

หัวหน้าสำนักงานธรณีวิทยา ของกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ กล่าวว่า การที่รัฐบาลท้องถิ่นจำกัดการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำใต้ดินอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น แต่พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา ยังคงทรุดตัวลงปีละ 12 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พื้นที่ต้องแบกรับน้ำหนังของสิ่งปลูกสร้างและการเคลื่อนตัวตามธรรมชาติของดิน เพราะการเคลื่อนที่ของแผ่นดิน 

 ส่วนอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแผนงาน ฝ่ายการพัฒนาท้องถิ่น ของอินโดนีเซีย ระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตัดสินใจว่าจ้างบริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการ เแมคคินซี แอนด์ คอมพานี ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง“ปาลังการายา” อยู่ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งแม็คคินซี จะมารับช่วงการศึกษาที่รัฐบาลทำไว้บ้างแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน

“เมืองปาลังการายา” เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะบอร์เนียว มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือหลายร้อยกิโลเมตร ดินแดนแห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ ถ่านหิน และปาล์มน้ำมัน จัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนได้อย่างไม่ขาดสาย

แต่บรรดานักวิจารณ์ เตือนว่า วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้กรุงจาการ์ตาพ้นจากหายนะน้ำทะเลท่วม แถมยังก่อให้เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมบนเกาะบอร์เนียว อันเป็นที่ตั้งของป่าฝนเขตร้อน ที่อยู่ของอุรังอุตังที่ใกล้สูญพันธ์ุเต็มที

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า พื้นที่ 1 ใน 3 ของกรุงจาการ์ตาอาจจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2593 เนื่องจากสูญเสียน้ำใต้ดิน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภาวะโลกร้อนทำให้สภาพภูมิอากาศผันผวน ส่วนการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่บริเวณสุดขอบตะวันออกของเกาะบอร์เนียว จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 ข้าราชการพลเรือนราว 1.5 ล้านคนจะเริ่มต้นย้ายไปภายในปี 2567 ค่าใช้จ่ายในการนี้อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนปัญหาที่ถือว่าสำคัญไปแพ้กันคือ ปัญหาขยะพลาสติก ขณะนี้อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากปะปนกับขยะกระดาษที่นำเข้าจากต่างประเทศ สร้างความกังวลเเก่บรรดานักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมท้องถิ่นที่พยายามผลักดันให้รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาจัดการกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างความปวดหัวอย่างมากแก่รัฐบาลอินโดนีเซียในขณะนี้  และดูจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ยกเว้น ปัญหาการทรุดตัวลงของกรุงจาการ์ตา