เตรียมรับมือให้ดี!จีดีพีโลกโตต่ำสุดนับแต่วิกฤติการเงิน

เตรียมรับมือให้ดี!จีดีพีโลกโตต่ำสุดนับแต่วิกฤติการเงิน

ไอเอ็มเอฟเตือนสงครามการค้าสหรัฐ-จีน บั่นทอนเศรษฐกิจโลกปีนี้-ปีหน้า ให้เติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก ปี 2551-2552 แถมแนวโน้มเศรษฐกิจอาจมืดมนลงอีกถ้าแก้ไขความตึงเครียดทางการค้าไม่ได้ ไปดูรายละเอียดว่าไอเอ็มเอฟมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกอย่างไร

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ของโลกในปี 2562 จะเติบโต 3.0% ลดลงจาก 3.2% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือน ก.ค. ส่วนใหญ่เป็นผลจากข้อพิพาทการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว ถือเป็นฉากหลังอันน่าหดหู่สำหรับการประชุมประจำปี ระหว่างไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ โดยคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนใหม่ ต้องรับมรดกปัญหานานัปการ ตั้งแต่การค้าชะงักงันไปจนถึงการตอบโต้ทางการเมืองในประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ที่กำลังเผชิญกับมาตรการรัดเข็มขัดจากไอเอ็มเอฟ

รายงานฉบับนี้ กล่าวถึงรายละเอียดของปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ อันมีสาเหตุมาจากการเก็บภาษีระหว่างสหรัฐกับจีน เช่นต้นทุนโดยตรง ความปั่นป่วนในตลาด การลงทุนลด และผลิตภาพลด ทำให้ห่วงโซ่อุปทานปั่นป่วน

ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ภายในปี 2563 ภาษีที่สองยักษ์ใหญ่ประกาศว่าจะเก็บเพื่อตอบโต้กัน จะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง 0.8% ขณะที่จอร์จีวา แถลงเมื่อสัปดาห์ก่อนแปลความได้ว่า เศรษฐกิจโลกหายไป 7 แสนล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับทำให้เศรษฐกิจของประเทศสวิตเซอร์แลนด์หายไปทั้งประเทศ

“เศรษฐกิจอ่อนแอเป็นผลจากกิจกรรมการผลิตและการค้าโลกถดถอยอย่างรุนแรง การเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อีกทั้งความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้ายืดเยื้อทำลายการลงทุนและความต้องการสินค้าทุน” จิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟแถลง พร้อมเสริมว่า ภาคบริการจำนวนมากทั่วโลกยังคงแข็งแกร่ง แต่มีสัญญาณภาคบริการซบเซาลงในสหรัฐและยุโรป

สำหรับปี 2563 ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 3.4% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจบราซิล เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และตุรกีจะดีขึ้น แต่ก็ยังลดลงจากคาดการณ์ในเดือน ก.ค. และยังเสี่ยงเกิดความเสี่ยงขาลงด้วย ทั้งความตึงเครียดทางการค้าเลวร้ายลง ความปั่นป่วนอันเป็นผลจากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)

ไอเอ็มเอฟ ระบุในรายงานว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าที่เริ่มโดยสหรัฐในช่วงต้นปี 2561 จะฉุดจีดีพีโลกขยายตัวลดลงถึง 0.8% ในปี2563 พร้อมเตือนว่า หากธนาคารกลางทั่วโลกไม่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินให้เร็วขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอีก 0.5%

สำหรับกลุ่มเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 4 ประเทศ ที่ประกอบด้วย สหรัฐ, จีน, ยูโรโซน และญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตจะไม่กระเตื้องขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ โดยเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 6.1% ในปี 2562  เป็น 5.5% ในปี 2567 ซึ่งตัวเลข 6.1% ในปีนี้เป็นการปรับลดประมาณการลงจากระดับ 6.3% ที่ทำนายไว้ในรายงานฉบับเดือนเมษายน ส่วนปีหน้าจะขยายตัวเพียง 5.8%

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า จะชะลอตัวจาก 2.4% ในปีนี้ เหลือ 2.1% ในปี 2563 ต่ำกว่าตัวเลขที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐรับปากว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่า 3% ต่อปี ขณะที่5 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนคือ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม  ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าจีดีพีจะเติบโตที่ 4.8% ในปี 2562 และ 4.9% ในปี 2563 โดยไทยจะเติบโตแค่ 2.9% ในปีนี้ และ 3.0% ในปีหน้า

ไอเอ็มเอฟ  ยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีอินเดียในปี 2562 ลงสู่ระดับ 6.1% จากระดับ 7.3% ซึ่งได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย. แต่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะดีดตัวขึ้นที่ระดับ 7.0% ในปีหน้า

รายงานของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า “เศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของบริษัทการเงินนอกภาคธนาคาร”

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 7.3% ในปี 2563 แต่หลังจากนั้นสามเดือน ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดีย

ขณะที่เมื่อสองวันก่อน ธนาคารโลกเพิ่งออกรายงาน “South Asia Economic Focus” ฉบับล่าสุด ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียจะลดลงสู่ระดับ 6% ในปี 2562 จากระดับ 6.9% ในปี 2561

อย่างไรก็ตาม การที่ไอเอ็มเอฟ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีโลกทั้งปีนี้และปีหน้า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เนื่องจากปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสองประเทศ คือจีนและสหรัฐ ลดลงอย่างมากในเดือนสิงหาคม ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกันที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ตัวเลขจากสำนักงานศุลกากรของจีน ระบุว่า จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐลดลง 22.5% เทียบกับเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่ระดับ 10,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐ ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจีน ลดลง 16% อยู่ที่ระดับ 44,400 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของจีน ยังเผชิญกับภาวะความต้องการสินค้าลดลงทั่วโลก เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกของจีนโดยรวมลดลง 3% ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 214,800 ล้านดอลลาร์

คณะผู้แทนของสหรัฐและจีน มีกำหนดเจรจากันต่อหลังจากหารือกันในเดือนตุลาคมแล้ว เพื่อหาทางออกเรื่องมาตรการทางภาษีที่แต่ละฝ่ายนำมาใช้กับสินค้าจากอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในขณะนี้

แต่วันนี้ไม่ได้มีแค่ไอเอ็มเอฟเท่านั้นที่ออกรายงานปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีโลก นายมาร์ค แซนดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อะนาลิติกส์ ยังเปิดเผยว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า และบรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศทั่วโลกอาจไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ดังกล่าวได้

นายแซนดิ ระบุว่า มีความเสี่ยงสูงมากว่าหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามแผน เศรษฐกิจโลกก็อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่หากเศรษฐกิจไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า เขาก็คิดว่าเศรษฐกิจจะอ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่มูดี้ส์รายนี้ มีขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว