‘เมืองเดินได้’ลดเหลื่อมล้ำ โจทย์ท้าทาย ‘สถาปนิกผังเมือง’

‘เมืองเดินได้’ลดเหลื่อมล้ำ  โจทย์ท้าทาย ‘สถาปนิกผังเมือง’

สถาปนิกผังเมืองจาก สจล.ชูโมเดล 'คน' ศูนย์กลางการออกแบบเมืองในอนาคต ผนวกแนวความคิดทุกวิชาชีพ ตอบรับการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมสูงวัย ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ระบุการออกแบบเมืองในอนาคตต้องสร้างสุนทรียภาพที่ดีต่อการดำเนินชีวิตของผู้อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน

“ย่านนวัตกรรม” (Innovation distric) เป็นแนวคิดใหม่ของการวางแผนและออกแบบพื้นที่บนหลักการของการพัฒนาเมือง ที่ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม มีกิจกรรมและการจัดการร่วมกันของชุมชนคนภายในพื้นที่อย่างชัดเจนและเป็นประจำ มีการร่วมแบ่งปันทรัพยากรและร่วมรังสรรค์นวัตกรรมให้ตรงกับเป้าหมายของแต่ละองค์กร หรือให้ตรงความต้องการของคนภายในย่าน

ผศ.อัญธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวบรรยายหัวข้อ Architect & Future City Development ว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สจล.ได้จัดทำโครงการร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ออกแบบเมืองยุคใหม่ที่มีแนวคิดย่านนวัตกรรม โดยให้คนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบเมือง เช่น ขยับโซนต่างๆ ทั้งที่พักอาศัย ที่ทำงาน ให้กระชับอยู่ในระยะที่สามารถเดินถึง

ย่านนวัตกรรม เป็นแนวคิดที่ใช้หลักการพัฒนาสินทรัพย์บนพื้นที่ 3 ด้าน คือ 1.กายภาพหรือลักษณะของพื้นที่ 2.ด้านเศรษฐกิจ รายได้ของคนในพื้นที่ 3.ด้านเครือข่ายสังคม คน โดยกำหนดรัศมีการศึกษาระยะ 5 กิโลเมตร เนื่องจากย่านนี้มีลักษณะเป็นชานเมือง มีอาคารสถานที่กระจายตัว เพื่อดึงดูดนักศึกษาจบใหม่มีไอเดียดีๆ เข้ามาเป็นสตาร์ทอัพหรือนวัตกรให้อยู่ในย่านนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ในอนาคตได้

อีกทั้ง การออกแบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทางข้ามที่ปลอดภัย โดยเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเขตนี้ที่มีย่านเก่าแก่อย่างหัวตะเข้ เขตลาดกระบังและจัดทำแอพพลิเคชั่นดึงคนมาท่องเที่ยว จนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ต่อยอดสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

"แนวคิดทั้งหมดไม่สามารถคิดได้จากคนที่เป็นสถาปนิกวิชาชีพเดียว หรือ จากคนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องมีการเก็บข้อมูล ต้องทำความเข้าใจร่วมกันในแบบ Inclusive design thinking หรือ นับรวมคนทุกกลุ่มทั้งสถาปนิก นักวางผังเมือง นักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาร่วมในกระบวนการออกแบบเมืองในอนาคต และทดสอบว่าสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่”

ดังเช่นในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น ได้ออกแบบทางเท้าโดยหลักคิดเพื่อ คนแก่ คนพิการ สามารถเดินทางได้สะดวกสบาย เพราะเมืองอนาคตคือเมืองเดินได้ อาจไม่ต้องถึงขั้นเป็นซิตี้เทคโนโลยี แต่สร้างเมืองให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ใช้ชีวิตได้สมาร์ท สวัสดิการชีวิตดี อันต้องเกิดจากการร่วมมือ ร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพราะเราต่างมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกัน ทำให้เมืองกลายเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยี

ความท้าทายนักพัฒนาเมือง 

ผศ.อัญธิกา กล่าวอีกว่า ความท้าทายของ “วิชาชีพนักผังเมืองในอนาคต” คือ การขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ไร้การวางแผนที่ดี (endless city) โดยเมืองขยายตัวออกไป เกิดอาคารที่ซับซ้อนมากขึ้น พื้นที่สีเขียวหายไป เพราะถูกแทนที่ด้วยเมือง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับหลายๆเมืองทั่วโลก ทำให้ความเป็นเมืองค่อยๆ ขยายออกไป ไม่สามารถเชื่อมระยะเดินถึงกัน จากไปตลาดที่เคยเดินไปได้ก็ต้องนั่งรถ วิถีชีวิตถูกผลักออกจากกันมากขึ้น เกิดย่านชานเมือง ค่าที่ดินราคาแพง และค่าครองชีพสูงแต่รายได้เท่าเดิม จึงเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้นเรื่อยๆ

ไทยติดอันดับแชมป์ของความเหลื่อมล้ำ โดยประชากร 1% ถือครองทรัพย์สิน 67% ถ้าการพัฒนาเมืองยังคงไร้ทิศทางจะยิ่งตอกย้ำการสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ประกอบกับโครงสร้างประชากรไม่สมดุล เนื่องจากประชากรวัย 60 ปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูง 20% จะเพิ่มถึง 30% ในปี 2579 เรียกได้ว่าเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด สวนทางกับเด็กเกิดใหม่น้อยลงแบบสามเหลี่ยมหัวคว่ำ

“การพัฒนาเมืองเป็นเรื่องที่ยากมากในยุคอุตสาหกรรม 3.0 ที่อุตสาหกรรมหลักมาแทนพื้นที่เกษตรทำให้ต้องแยกโซนของเมือง คือ แยกที่พักอาศัย ที่ทำงาน สถานศึกษา สันทนาการ นิคมอุตสาหกรรม ผลิตอาหาร ทำให้ชีวิตแยกจากกันโดยสิ้นเชิง สิ่งที่ตามมาคือ การพึ่งพายานพาหนะสำหรับเดินทาง หรือที่เรียกว่า “เมืองที่พึ่งพารถยนต์” จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำห่างชั้นขึ้น นี่คือจุดสำคัญที่ทำให้กลุ่มนักพัฒนาเมืองต้องกลับมาคิดใหม่เกี่ยวกับการแบ่งโซนหรือการออกแบบผังเมืองในอนาคต ที่จะต้องสร้าง “เมืองเดินได้” ให้สำเร็จ”