'ซีพี' แย้มดูฤกษ์ลงนามก่อน 25 ต.ค. รับสิทธิบอกเลิกสัญญา 'ไฮสปีด'

'ซีพี' แย้มดูฤกษ์ลงนามก่อน 25 ต.ค. รับสิทธิบอกเลิกสัญญา 'ไฮสปีด'

กพอ.อนุมัติเคาะเวลาส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบิน รฟท.ชี้ส่งมอบไม่ได้ใน 1 ปี 3 เดือน เปิดช่องเอกชนบอกเลิกสัญญาได้ “สมคิด” เผย “ซีพี” แย้มลงนามก่อน 25 ต.ค.นี้ ขอดูฤกษ์

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้ข้อสรุปเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) และนำมาสู่การลงนามในวันที่ 25 ต.ค.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ข้อสรุปการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดทำเอกสารแนบท้ายสัญญาสำหรับลงนามกับเอกชนผู้ชนะประมูล ภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้

สำหรับ การส่งมอบพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการบริหารโครงการพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการคลัง เป็นประธาน 

ทั้งนี้ ข้อสรุปการรื้อย้ายสาธารณูปโภคได้ผ่านการหารือกับกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การประปานครหลวง (กฟน.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) และบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด โดยสาธารณูปโภคที่จะรื้อย้าย ได้แก่ 1.การแก้จุดตัดเสาไฟแรงสูง 230 จุด 2.การย้ายอุโมงค์ระบายน้ำ 1 จุด 3.การย้ายท่อน้ำมัน 4 กิโลเมตร 4.การย้ายเสาโทรเลขของ ร.ฟ.ท. 80 กิโลเมตร

แบ่งส่งมอบพื้นที่3ช่วง

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อสรุปในการส่งมอบพื้นที่ร่วมกันและนำเสนอให้ กพอ.เห็นชอบ โดยแบ่งการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วขึ้น แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ได้แก่ 1.ช่วงสถานีพญาไท–สุวรรณภูมิ รวมระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่ดำเนินการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ในปัจจุบัน ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีหลังจากมีการลงนามในสัญญา 

2.ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร กำหนดให้มีการส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน จากกำหนดเดิมส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี ซึ่งช่วงนี้มีกำหนดจะเปิดบริการได้ภายในปี 2567

3.ช่วงสถานีพญาไท–ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หลังลงนามในสัญญา โดยการเดินรถไฟความเร็วสูงในช่วงที่ 3 จะเปิดดำเนินการเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงทั้งเส้นทางได้ภายในปี 2568 ซึ่งทำให้การดำเนินโครงการนี้ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนด 

ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งมอบพื้นที่เป็นไปตามที่ กพอ.กำหนดได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามเร่งรัดการส่งมอบที่ดินให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน 

ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกับ สกพอ.และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าใช้วงเงินในหลักร้อยล้านบาทซึ่งไม่สูงมากนักหากเทียบกับมูลค่าการลงทุนโครงการที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

ปิดช่องเอกชนฟ้องร้องรัฐ

นายคณิศ กล่าวว่า กรณีที่รัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีได้ตามที่กำหนดในเอกสารแนบท้ายสัญญา เอกชนไม่สามารถฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้ เนื่องจากโครงการนี้เป็นการร่วมทุนแบบ PPP net cost ซึ่งเอกชนต้องรับความเสี่ยงโดยคำนวณค่าความเสี่ยงไว้ในราคาที่ประมูลแล้ว 

ทั้งนี้ กรณีการส่งมอบที่ดินไม่ได้และทำให้โครงการล่าช้า ภาครัฐและเอกชนสามารถเจรจากันและขยายเวลาในการก่อสร้างโครงการได้ โดยเป็นการขยายระยะเวลาให้ก่อสร้างและไม่ได้มีการชดเชยค่าเสียหาย

157123692138

เปิดทางขอยกเลิกสัญญา

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท.กล่าวว่า กรณีที่มีการระบุถึง ร.ฟ.ท.ไม่สามารถส่งมอบที่ดินได้ตามแผนเอกชนสามารถขอยกเลิกสัญญาออก โดยกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ในลักษณะเดียว คือ หลังลงนามสัญญาแล้ว ร.ฟ.ท.ไม่สามารถทำงานได้เลย หรือ เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี 3 เดือนแล้ว ร.ฟ.ท.ไม่สามารถดำเนินการใดได้ ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดและอาจเป็นเหตุให้มีการยกเลิกสัญญาได้ แต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้ยากเพราะหลังจากลงนามในสัญญา ร.ฟ.ท.จะเร่งรัดการทำงานให้ได้ตามแผน

“หากลงนามในสัญญาแล้วและ ร.ฟ.ท.ไม่ได้มีการทำงานส่งมอบพื้นที่ได้เลยแบบนั้นอาจต้องเลิกไปเลย แต่ไม่มีใครที่มาเซ็นสัญญาแล้วตั้งใจจะยกเลิกสัญญา การเซ็นสัญญาคือเริ่มต้นทำสัญญา และหลังจากนี้ขอเวลาทำงานก่อน” นายวรวุฒิ กล่าว

“ซีพี”ขอดูฤกษ์ยามก่อน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือกับนายฮิโรชิ ซากิ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ว่า สภาหอการค้าและนักธุรกิจของญี่ปุ่นได้เข้ามาหารือและสอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในอีอีซี และได้ยืนยันให้นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจว่าโครการนี้จะมีการก่อสร้างได้ตามกำหนดและจะมีการลงนามในสัญญากับภาคเอกชนเร็วๆนี้ 

ส่วนจะลงนามได้วันที่ 25 ต.ค.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกลุ่มซีพี ซึ่งจะต้องดูฤกษ์ยามก่อนว่าจะลงนามได้ในวันใด และอาจจะเร็วกว่าที่กำหนดในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ก็ได้ โดยคาดว่ากลุ่มซีพีคงต้องดูฤกษ์ยามก่อนที่จะกำหนดวันลงนาม และได้หารือทางโทรศัพท์กับนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เรียบร้อยแล้ว

“คุณศุภชัย บอกว่าจะเซ็นสัญญาแน่นอน อาจจะก่อนวันที่ 25 ต.ค.นี้ ก็ได้ ขอไปดูฤกษ์ยามก่อน แต่ไม่เกินวันที่ 25 ต.ค.แน่นอนเพราะเป็นเดทไลน์”นายสมคิด กล่าว

เบิกเงินก่อนกำหนดได้

รายงานข่าว ระบุว่า ในเอกสารแนบท้ายสัญญาได้ระบุข้อตกลงเรื่องของการจ่ายเงินให้กับค่าสัญญาด้วย โดย ร.ฟ.ท.พร้อมจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้กับคู่สัญญาได้ก่อนกำหนด ภายใต้เงื่อนไขคู่สัญญาสามารถก่อสร้างและทดลองเดินขบวนรถจนผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด และเปิดให้บริการได้ก่อนกำหนดแม้จะไม่ใช่ตลอดเส้น คู่สัญญาสามารถตั้งเรื่องเบิกเงินค่าก่อสร้างจากภครัฐได้

“ที่บอร์ดอีอีซีไม่ได้หยิบเรื่องนี้มาหารือในที่ประชุมนั้น เพราะเป็นข้อความที่ปรากฎอยู่ในเอกสารท้ายสัญญาอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องหยิบขึ้นมาพิจารณา”แหล่งข่าวกล่าว

บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติลงนาม

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยระบุว่า คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.วานนี้ (16 ต.ค.2562) ได้มีมติเห็นชอบให้นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท. เป็นผู้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มกลุ่มซีพีในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งจะมีการลงนามในวันที่ 25 ต.ค.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้แผนส่งมอบพื้นที่ที่จะถูกบรรจุเป็นแนบท้ายสัญญาโครงการร่วมทุนไฮสปีดเทรน ได้หารือในความชัดเจนร่วมกันกับเอกชน และทุกหน่วนงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคแล้ว ได้ความชัดเจนว่า ร.ฟ.ท.จะทยอยส่งมอบพื้นที่ออกเป็นส่วน คือ 1.พื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา คาดว่าจะใช้เวลาส่งมอบแล้วเสร็จภายในประมาณ 1 ปี 3 เดือน

2.ช่วงโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความพร้อมส่งมอบแล้วเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขเอกชนจะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์บริหารประมาณ 10,000 ล้านบาทให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีกรอบกำหนดอีกว่าจะต้องจ่ายให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา

และ 3.พื้นที่ที่ยังไม่พร้อมส่งมอบ เนื่องจากยังมีระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญที่ต้องใช้เวลาเคลื่อนย้าย เช่น ท่อน้ำมัน อีกทั้งยังมีปัญหาผู้บุกรุก คือ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะใช้เวลาทยอยส่งมอบให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา 

เอกชนเริ่มเคลียร์พื้นที่ พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ภายหลังลงนามสัญญาร่วมลงทุน ร.ฟ.ท.และกลุ่มซีพี จะสามารถเข้าพื้นที่เพื่อเคลียร์ปัญหา และเตรียมความพร้อมของพื้นที่ก่อสร้างได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้

“เรื่องการออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ NTP ตามข้อกำหนดให้ RFP คือจะต้องออกภายหลังลงนามสัญญาไปแล้ว 1 ปี แต่ในส่วนนี้ก็จะมีการประเมินกันด้วยว่า พื้นที่มีความพร้อมแล้วหรือไม่ หากทั้งสองฝ่ายมองว่าพร้อม ในช่วงทยอยส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกภายใน 2 ปีนี้ ก็จะสามารถออก NTP เริ่มงานได้เลย แต่หากไม่พร้อมก็สามารถขยายกันได้ เพราะโครงการจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีหลังจากออก NTP”

เลิกสัญญากรณีเดินหน้าไม่ได้

นายวรวุฒิ กล่าวว่า กรณีที่มีการระบุถึงร่างสัญญาที่กำหนดให้เอกชนยกเลิกสัญญาได้ ถ้า ร.ฟ.ท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบ 100% ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดเช่นนี้ในร่างสัญญา เพราะในร่างสัญญากำหนดว่า หากเริ่มดำเนินโครงการไปแล้วมาขอยกเลิกสัญญา จะต้องดูที่เจตนาอย่างเหมาะสม 

โดยหากภายหลังลงนามสัญญาไปแล้ว ร.ฟ.ท. เริ่มทำงาน เริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่ เอกชนจะไม่มีสิทธิ์มาขอยกเลิกสัญญา แต่ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อได้ โดยภาครัฐไม่ได้เริ่มทำงานอะไรเลย จึงจะขอยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งในที่นี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ส่วนกรณีการจ่ายเงินชดเชยให้เอกชนนั้น ร.ฟ.ท.ยังยึดตามหลักเกณฑ์ RFP โดยมีกำหนดทยอยจ่ายเงินชดเชย 117,227 ล้านบาท เท่ากันในระยะเวลา 10 ปี ภายหลังจากเอกชนทำการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด