แอมเนสตี้ฟ้องศาลทวงสิทธิ์ปมตั้ง “เนติวิทย์”

แอมเนสตี้ฟ้องศาลทวงสิทธิ์ปมตั้ง “เนติวิทย์”

สมาคมแอมเนสตี้ ประเทศไทยฟ้องศาลปกครองกรณี “มหาดไทย” ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้ง “เนติวิทย์” เป็นกรรมการ

วานนี้ (16 ต.ค.) ตัวแทนสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางไปศาลปกครองกลางเพื่อดำเนินการฟ้องคดีกรณีนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร (อธิบดีกรมการปกครอง) ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมฯ และฟ้องร้องดำเนินคดี รมว.มหาดไทยที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยวินิจฉัยอุทธรณ์ของสมาคมฯ ล่าช้าเกินกำหนดระยะเวลา ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 82 วรรคท้ายกำหนด

จากการพิจารณาของคณะกรรมการสมาคมฯ เห็นว่า นายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร ใช้ดุลพินิจและอำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสองที่ระบุว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

สำหรับข้อหาคดีอาญา 4 คดี เรื่องฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 นั้น ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว 2 คดี และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้คดีอาญาที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาต่อนายเนติวิทย์ ไม่อาจดำเนินคดีได้อีกต่อไป และศาลไม่อาจพิพากษาและลงโทษให้นายเนติวิทย์ มีความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวได้อีก

ดังนั้นการที่นายทะเบียนสมาคมฯ หยิบยกเหตุผลว่า นายเนติวิทย์ ถูกดำเนินคดีอาญาดังกล่าวเป็นเหตุให้ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมฯ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจและออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเนติวิทย์ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตประธานสภานิสิต จุฬาฯ และเป็นนักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่ ระบุว่าตนเองได้ต่อสู้ ร้องขอมานาน นับตั้งแต่ได้รับเลือก แต่นายทะเบียนก็ยังไม่รับรองจดทะเบียนให้ในตำแหน่งกรรมการเยาวชน แอมเนสตี้ประเทศไทย โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยทำหนังสือร้องเรียนไปถึงอธิบดีกรมการปกครอง และรองอธิบดีกรมการปกครอง ก็มีหนังสือตอบกลับมาว่า ยืนยันตามเดิม คือไม่รับจดทะเบียนให้ตามกฎหมาย อ้างว่าตนถูกคดีและเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่กรรมการคนอื่นที่มีคดีจากชุมนุมทางการเมืองเช่นกัน ก็ได้รับการจดทะเบียนปกติ ต่างกับตนเอง จึงมองว่าเรื่องนี้ ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2561 จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน