ถึงคิว"กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม"ภารกิจยุคเปลี่ยนผ่าน

ถึงคิว"กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม"ภารกิจยุคเปลี่ยนผ่าน

ความท้าทายแห่งยุคสมัยว่าด้วยการ “ทรานส์ฟอร์ม” อันเป็นผลจากดิสรัปชั่น ซึ่งมีดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนผ่านนี้ อธิบดี กสอ. คนใหม่ความหลักคิดและการทำงานอย่างไร

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดี (รักษาราชการแทน) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ กสอ. ให้สัมภาษณ์ ว่า แผนการดำเนินงานภายหลังจากรับตำแหน่งอธิบดี กสอ. นอกจากเรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการ และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ตามที่ได้ดำเนินการมาแล้วนั้น จะเพิ่มในส่วนที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 2. ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น และ3. ครีเอทีฟอีโคโนมี

ในเรื่องของเกษตรอุตสาหกรรมจะมอบให้ให้ศูนย์ภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จ.ลำปาง ยกให้เรื่องนี้เป็นภารกิจหลักที่จะเร่งดำเนินการภายในรัฐบาลนี้ ซึ่งจะเข้าไปส่งเสริมตั้งแต่การยกระดับเกษตรกรต้นน้ำไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์

จากการร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ยกระดับกลางน้ำในเรื่องการเก็บรักษาผลผลิตการเกษตร การแปรรูปผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่า ไปจนถึงปลายน้ำในเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงธุรกิจการให้บริการภาคการเกษตร

นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เกษตรกรนำเครื่องจักรการเกษตรเข้าไปช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเก็บเกี่ยว ซึ่งจะตอบโจทย์สำคัญของเกษตรที่จะต้องมีความสะดวก ไม่ยุ่งยาก และมีต้นทุนลดลง

ส่วนการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจการให้บริการด้านการเกษตร ผู้ประกอบการเหล่านี้จะนำเครื่องจักรการเกษตรด้านต่างๆมาให้บริการ เช่น ธุรกิจการติดตั้งระบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ , การให้บริการใช้เครื่องจักรเข้ามาเก็บเกี่ยวผลผลิต , การใช้เครื่องจักรเข้ามาเตรียมดินหรือเพาะปลูก , การใช้เครื่องจักรหรือโดรนเข้ามาพ่นยา และปุ๋ย , ใช้โดรนเข้ามาบินประเมินการแพร่ระบาดของโรคพืช เป็นต้น เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเข้ามาช่วยด้านการเกษตรได้มาก หากธุรกิจเหล่านี้มีซอฟท์แวร์บริหารจัดการที่ดี และเข้าถึงเกษตรกร ก็จะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

ในส่วนของการส่งเสริมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น จะต่อยอดจากโครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ผ่านโครงการ T-GoodTech ที่ทำร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากนี้จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปเพิ่มในช่วงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการมากขึ้นจึง

ในเรื่องนี้จะประสานงานกับกลุ่มสตาร์ทอัพให้เข้ามาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนคราวเข้ามาช่วยในขั้นตอนต่างๆ เช่น  แอพพลิเคชั่นด้านบัญชีที่จะอำนวยความสะดวกตั้งแต่การทำบัญชี การออกใบเสร็จ ใบสั่งซื้อ รวมไปถึงการจัดการด้านภาษี แอพพลิเคชั่นบริหารจัดการโรงงาน ร้านอาหาร โรงแรม ต่างๆ การใช้บิ๊กดาต้ามาบริหารจัดการด้านตลาด ซึ่งจะทำให้เชื่อมโยงตั้งแต่ระบบการผลิตไปสู่การค้าออนไลน์ได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ กสอ. จะประสานงานกับสตาร์ทอัพกลุ่มต่างๆ ให้มาพบกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในเครือข่ายของ กสอ. กว่า 9 หมื่นราย ที่จะเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ให้กับสตาร์ทอัพ ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัพของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว และยังเป็นการยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับเอสเอ็มอีไทยทำให้บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่าย

การดำเนินงานแบบนี้จะช่วยปิดจุดอ่อนในอดีตที่ภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณมาพัฒนาแอพพลิเคชั่น หรืออุดหนุนช่วยเหลือด้านต่างๆ หากไม่มีงบประมาณโครงการก็หยุดนิ่ง และยังทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนต้องพึ่งพาภาครัฐตลอดเวลา ซึ่งเป็นการพัฒนาเอสเอ็มอีที่ล้มเหลว

ด้านการส่งเสริมด้านครีเอทีฟอีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะประสานงานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และวิทยาลัยต่างๆ ออกแบบการเรียนการสอนเปิดโอกาสให้คณะต่างๆภายในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดกิจกรรมลงพื้นที่เข้าไปช่วยเกษตรกร เอสเอ็มอีด้านต่างๆ ให้เพิ่มผลผลิต ยกระดับการบริหารจัดการให้มีรายได้เพิ่มผ่านการสร้างสรรค์ต่างๆ เช่นคณะวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์ เข้าไปออกแบบปรับปรุงระบบการผลิต

รวมไปถึงภาควิชาประวัติศาสตร์ ก็สามารถเข้าไปสร้างเรื่องราวเบื้องหลังผลิตภัณฑ์หรือสินค้าชุมชนต่างๆให้เข้ากับความเป็นมาของท้องถิ่นให้มีเอกลักษณ์เหนือกว่าที่อื่น ซึ่งทุกศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัยสามารถนำมาสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับสินค้าและบริการได้ทุกชนิด ทำให้เกิดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในทุกๆด้าน 

 “นักศึกษาคนรุ่นใหม่นำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้าและบริการจากประสบการณ์จริง และได้เกรดการศึกษาด้วย ขณะที่เอสเอ็มอี ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และเกิดนวัตกรรมจากการสร้างสรรค์ใหม่ๆขึ้นมา รวมไปถึงภาคการเกษตรที่จะนำความคิดสร้างสรรค์ไปปรับปรุงพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มมากกว่าการทำเกษตร " 157129874297