'เอสซีบี' ชูบริการใหม่ 'มีตังค์' ให้สวัสดิการพนง.ลูกค้า เบิกเงินเดือนล่วงหน้า

'เอสซีบี' ชูบริการใหม่ 'มีตังค์' ให้สวัสดิการพนง.ลูกค้า เบิกเงินเดือนล่วงหน้า

ไทยพาณิชย์ ส่งบริการใหม่ “มีตังค์” ให้สวัสดิการพนักงานเบิกเงินเดือนล่วงหน้า ผ่าน “เอสซีบี อีซี่ส์” นำร่องใช้กับพนักงาน 2 บริษัท “วิลล่า มาร์เก็ต-อำพลฟูดส์” คิดค่าธรรมเนียมเบิกเงินล่วงหน้า “พันละ 20 บาท” มั่นใจช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารได้เปิดตัว “มีตังค์”บริการ“ เบิกเงินเดือนล่วงหน้า”ให้กับลูกค้าที่มีบัญชีเงินเดือน(Payroll Account)กับธนาคารผ่านแอพพลิเคชั่น SCB EASY โดยไม่ต้องรอสิ้นเดือน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่เมื่อพนักงานต้องการใช้เงินฉุกเฉินให้สามารถวางแผนการเงินจากรายได้ประจำของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ โดยมีดิจิทัล เวนเจอร์ในเครือธนาคารเป็นผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ

ทั้งนี้ ได้เริ่มให้บริการแล้วกับ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี มีพนักงานในการดูแลกว่า 1,200 คน และบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง มีพนักงานในกลุ่มกว่า 1,300 คน และตั้งเป้าขยายบัญชีพนักงานภายใต้ SCB Payroll 20% ภายในปี 2562 หรือคิดเป็น 400,000 บัญชี จากปัจจุบันที่มีฐานบัญชีเงินเดือนที่ 2 ล้านบัญชีและในปีหน้ายังเพิ่มขึ้นอีก20%

ช่วงแรกของการทดสอบ บริษัทนายจ้างจะคัดเลือกพนักงานกลุ่มเป้าหมายเพื่อได้รับสิทธิ์นี้ ในการเบิกเงินเดือนได้เท่ากับจำนวนวันที่ได้ทำงานจริงมาแล้วในเดือนนั้นๆ สูงสุดไม่เกิน 50% ของเงินเดือน หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (หรือตามที่นายจ้างกำหนด)สามารถเบิกเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านฟังก์ชั่น ‘มีตังค์’ ในแอพพลิเคชั่น SCB Easy และธนาคารจะหักเงินเดือนครั้งถัดไป โดยมีค่าธรรมเนียมการเบิกจ่ายล่วงหน้า 1,000 ละ 20 บาท

โดยธนาคารจะขอติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้ 2 บริษัทนี้ก่อนเป็นระยะเวลา 1 เดือนหลังจากนี้ ว่า มีการเบิกเงินล่วงหน้ามาใช้มากน้อยและถี่แค่ไหน เช่น เบิกเงินมาทั้งหมดเลยหรือเบิกเงินตลอดเวลาหรือไม่ หากมีผลอออกมาเป็นด้านบวก จึงค่อยขยายฐานผู้ใช้เพิ่มเติม แต่ตอนนี้เรายอมรับว่า หลังจากเริ่มทดสอบมาแล้ว 8 วัน พบผู้ใช้มีพฤติกรรมการเบิกเงินเดือนล่วงหน้ามาใช้อย่างน่ากลัวหรือแนวโน้มพฤติกรรมเสี่ยงมีมากขึ้น คือ เบิกเงินในจำนวนน้อยแต่เบิกถี่

ดังนั้น หลังจากนี้ธนาคารอาจจะต้องมีโปรแกรมเสริมเข้าไปช่วยดูแลผู้ใช้ให้การบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หากเป็นผู้ใช้ที่มีประวัติการชำระหนี้อยู่แล้ว จะนำเสนอสินเชื่อสวัสดิการทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้นำมาลดหนี้ส่วนนี้ รวมถึงคงมีการปรับปรุงเงื่อนไขเมื่อขยายบริการดังกล่าว อาทิ ลดวงเงินการเบิกสูงสุดไม่เกิน20%ของเงินเดือน จากเดิมคิดที่ไม่เกิน50%ของเงินเดือน เป็นต้น

"ผลิตภัณฑ์นี้เป็นการนำเงินเดือนของตัวเขาเองที่ได้ทำไปแล้วแต่ยังไม่ถึงเวลาเบิกจ่ายออกมาใช้ก่อนในเวลาที่จำเป็น ซึ่งดีกว่าการไปกู้ยืมเงินนอกระบบ และเราจะไม่เร่งปล่อย เพราะเป็นการปล่อยกู้ให้กับคนที่มีปัญหาอยู่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งธนาคารได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงจุดที่จะขยาย ด้วยพร้อมของผู้ใช้และเรามีความเข้าใจ อีกทั้งอยู่บนดิจิทัล ทำให้ขยายบริการนี้ได้ทันทีไม่ยาก ด้วยลูกค้าธนาคารอยู่บนดิจิทัลกว่า10ล้านราย “

นายอรพงศ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเราพบว่า มนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น มีเงินเดือนใช้จ่ายไม่เพียงพอจนต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งกำลังส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของไทย