‘ซีพีเอ็น’โหมลงทุนไทย-อาเซียน ลุยมิกซ์ยูสปักหมุดเมืองศก.

‘ซีพีเอ็น’โหมลงทุนไทย-อาเซียน ลุยมิกซ์ยูสปักหมุดเมืองศก.

“เซ็นทรัลพัฒนา” สานยุทธศาสตร์รัฐบูมท่องเที่ยว-โครงสร้างพื้นฐาน-การค้า ลุยปักหมุดเมืองศก. เท 2.2 หมื่นล. ชูกลยุทธ์มิกซ์ยูส “ศูนย์กลางใช้ชีวิต” ยึดหัวหาด “อยุธยา-ศรีราชา-จันทบุรี” ปั้นย่านทำเลทองกรุงเทพฯ “พระราม2-รามอินทรา-สีลม-พระราม9” 

ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งในไทยและทั่วโลก รวมทั้งแรงกระเพื่อมจาก “คลื่นดิสรัป” รอบด้าน แต่ บิ๊กคอร์ป “เซ็นทรัลพัฒนา” หนึ่งในธุรกิจภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ยังคงทุ่มเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่เร่งขยายอาณาจักร “ศูนย์การค้า” ด้วยโมเดลมิกซ์ยูสรูปแบบใหม่ ยึดหัวหาดเมืองเศรษฐกิจทั่วประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ร่วมกันเปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ธุรกิจ “สร้างงาน สร้างเมือง สร้างประเทศ” ปลุกปั้นย่านเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย ว่า ซีพีเอ็น มุ่งลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว รองรับศักยภาพการเติบโตของไทย โดยเน้นพัฒนาศูนย์การค้าในพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางด้านการท่องเที่ยว (Tourism) การขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายคมนาคมต่างๆ  (Infrastructure) และการเติบโตของภาคการค้า (Trading) ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ  

โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจใหม่ หรือพื้นที่ New S-Curve และย่าน New Urbanized District สำคัญของกรุงเทพฯ ที่จะไต่ระดับการเติบโตในอนาคต คือ ทำเลเป้าหมายของซีพีเอ็น

ทั้งนี้ ซีพีเอ็น วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่ “Center of Life" หรือศูนย์กลางในการใช้ชีวิตของทุกจังหวัด  ตามแผนระยะ 3 ปี (2563-2565) จะใช้งบลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท พัฒนา 17 โครงการ ประกอบด้วย 5 โปรเจคไฮไลท์

ได้แก่ โครงการมิกซ์ยูสใหม่ 3 แห่ง อยุธยา ศรีราชา และ จันทบุรี สร้าง “Golden District” และพลิกโฉมศูนย์การค้า 2 แห่ง บนทำเลศักยภาพใหม่ของกรุงเทพฯ ได้แก่ เซ็นทรัล พลาซา พระราม 2 และรามอินทรา นอกจากนี้ เตรียมปรับปรุงใหญ่ 12 ศูนย์การค้าทั่วประเทศ

งบดังกล่าว ไม่รวมการพัฒนาโครงการร่วมทุน “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่า 36,700 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จปี 2567 และการพัฒนาโครงการย่านพระราม 9 หลังการเข้าซื้อกิจการ “จีแลนด์”  วางเป้าหมายพลิกอาณาจักรพระราม 9 เป็นนิวซีบีดีแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยแผนพัฒนาจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดเผยรายละเอียดในต้นปี 2563

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ขณะนี้เปิดบริการโครงการ “ไอ-ซิตี้” ประเทศมาเลเซีย มีการตอบรับที่ดีและกำลังศึกษาทำเลใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งศึกษาเชิงลึกเพื่อเตรียมเปิดตลาดประเทศ “เวียดนาม” 

  • ลุยมิกซ์ยูสยึดเมืองเศรษฐกิจ

นางสาววัลยา กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาโครงการของซีพีเอ็นนับจากนี้ มุ่งกลยุทธ์ มิกซ์ยูสดีเวลอปเมนท์ เพื่อสร้างพลังในการทำตลาดได้อย่างมีศักยภาพ 

โดยโปรเจค “เซ็นทรัล พลาซา อยุธยา” มูลค่า 6,200 ล้านบาท ถือเป็น Strategic Location พัฒนาภายใต้แนวคิด “ความเรืองรองแห่งพระนครศรีอยุธยา” ส่งเสริมความเป็นเมืองมรดกโลกโดยยูเนสโก และย้อนรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองอยุธยา สร้างชีวิตชีวาให้อยุธยากับมาเรืองรองอีกครั้ง โดยนำ “เกียวโตโมเดล” เป็นต้นแบบผลักดันอยุธยาเป็นอีกหนึ่งในเดสทิเนชั่นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวกว่า 8.2 ล้านคนต่อปี

เซ็นทรัล พลาซา อยุธยา ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ทัวริสต์ แอทแทรกชั่น โรงแรม ที่พักอาศัย และคอนเวนชั่นฮอลล์ ผ่านดีไซน์ร่วมสมัย คาดเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2564 วางบทบาทเป็น “ฮับ” ของภาคกลางตอนบน ครอบคลุมฐานลูกค้าจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี ประชากรราว 2.5 ล้านคน เป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญที่ต่อขยายจากกรุงเทพฯ 

“โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวเมืองอยุธยาที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ต้องมาเช็คอินเป็นที่แรก ด้วยจุดขายของโครงการนิทรรศน์พระนครฯ เรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยาผ่านอินเตอร์แรคทีฟแกลลอรีแห่งแรก และทรรศนาอโยธยา จำลองวิถีชีวิตอยุธยายุคเก่านำมาเล่าใหม่ ในบรรยากาศเอาท์ดอร์แบบย้อนยุคด้วยร้านค้าเสมือนอยุธยาสมัยก่อน มีชุดไทยให้เปลี่ยนก่อนเยี่ยมชมเพื่อสัมผัสประสบการณ์เสมือนได้ย้อนยุคกลับไปอยุธยาโบราณจริงๆ”

  • วางเครือข่ายเจาะพื้นที่อีอีซี

โครงการมิกซ์ยูส “เซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา” มูลค่าลงทุน 4,200 ล้านบาท ประกอบด้วย ศูนย์การค้า คอนเวนชั่นฮอลล์ เซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ ออฟฟิศ และโรงแรม วางแนวคิด Living Green in Smart City of EEC Center ซึ่งศรีราชาเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในพื้นที่ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี นับเป็นการลงทุนคู่ขนานไปกับภาครัฐ เพื่อเชื่อมโยง กรุงเทพฯ-ชลบุรี โดยเพิ่มจิ๊กซอว์ “ศรีราชา” ต่อเนื่องไปยัง ระยอง 

“ศรีราชาเป็นเมืองอุตสาหกรรม นิวเอสเคิร์ฟ หรือ เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และจะเป็น ไมซ์ฮับ ของอีอีซีเซ็นเตอร์ เป็นพื้นที่ที่มีกำลังซื้อและศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคต” 

โครงการดังกล่าวเป็นศูนย์การค้าฟอร์แมทใหม่แบบ “Lifestyle Thematic Mall” แบ่งโซนร้านค้าตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ตกแต่งเป็นธีมห้องต่างๆ ให้บรรยากาศเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้าน คาดเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2564 และเป็นครั้งแรกของการพัฒนาศูนย์การค้าแบบเซมิ-เอาท์ดอร์ เช่นเดียวกับเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์

  • ชูจันทบุรีเชื่อมอีอีซีพลัส2

สำหรับมิกซ์ยูส “เซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี” มูลค่าลงทุน 3,500 ล้านบาท เป็นการสร้างฟอร์แมทใหม่ภายใต้แนวคิด “The Shining Gem of EEC Plus 2” ตามแผนปูพรมศูนย์การค้าในภาคตะวันออกเป็น The Best Modern Living Area บนทำเลศักยภาพที่มีทั้งศูนย์การค้า โลคัลมาร์เก็ต  คอนโดมิเนียมและที่พักอาศัย รวมถึงพรีเมียมสปอร์ตคลับและโซเชียลพาร์คริมน้ำ

“ที่นี่เปรียบเหมือน The Shining Gem of EEC plus 2 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจันทบุรีและตราด ซีพีเอ็นเป็นท็อปดีเวลอปเปอร์รายแรกที่เห็นศักยภาพของจังหวัดในฐานะเมืองเชื่อมโยงอีอีซีที่กำลังเติบโต"

อีกทั้งยังเป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนของโลก และศูนย์กลางการค้าขายพลอยและอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดของโลก เม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแนวไลฟ์สไตล์  คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565 

  • ปั้นทำเลทองพระราม2-รามอินทรา

ทางด้านโครงการ เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 จะมีการปรับปรุงใหญ่ มูลค่า 1,500 ล้านบาท เพื่อตอกย้ำความเป็น “The Largest Regional mall-Gateway of South Bangkok” ผลักดันให้ย่านพระราม 2 เป็น New Urbanized District แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 จะถูกพลิกโฉมใหม่ทั้งด้านดีไซน์ การเพิ่มร้านค้าใหม่ ปรับปรุงร้านค้าที่มีอยู่เดิม มีการขยายพื้นที่และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ คาดแล้วเสร็จในไตรมาสแรกปี 2565

ขณะที่ เซ็นทรัลพลาซา รามอินทรา มีการพลิกโฉมใหญ่ในรอบ 26 ปีด้วยมูลค่า 1,600 ล้านบาท  ภายใต้แนวคิด “Living Lab of Ramindra”  เพื่อรองรับกลุ่มประชากรและอำนาจซื้อที่เติบโตขึ้น จากหมู่บ้านเป็นคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นแนวสูงมากขึ้น ความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้น รวมถึงการเข้าถึงของรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ทำให้วิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ศักยภาพของพื้นที่เติบโตมากขึ้น คาดโครงการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปี 2564

  • ปี 2563 ไม่เปิดสาขาใหม่

ในปี 2563 ซีพีเอ็น จะไม่มีการเปิดบริการศูนย์การค้าใหม่ มุ่งเน้นการปรับปรุงและขยายพื้นที่ศูนย์การค้า 12 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา พระราม 9, เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลพลาซา บางนา, เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น, เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี, เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ และเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต, เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช, เซ็นทรัล มารีนา พัทยา, เซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย และเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่

ปัจจุบัน ซีพีเอ็น บริหารจัดการศูนย์การค้า 34 แห่ง อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 โครงการ ต่างจังหวัด 18 โครงการ และมาเลเซีย 1 โครงการ รวมทั้ง ศูนย์อาหาร 30 แห่ง อาคารสำนักงาน 7 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง และโครงการคอนโดมิเนียม 9 โครงการ ภายใต้แบรนด์ ESCENT, ESCENT VILLE, ESCENT PARK VILLE และ “ฟิล พหล 34” (PHYLL PAHOL 34) และโครงการบ้านเดี่ยว “นิยาม บรมราชชนนี” โดยบริษัท มีแผนธุรกิจระยะยาวที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ ในทำเลศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบอื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก